News

ผศ. ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต : ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและจัดทำระบบโลจิสติกส์เพื่อ วางแผนการผลิต การขนส่งและกระจายสินค้า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์โลจิสติกส์และธุรกิจ ( Logistics and Business Analytics Center of Excellence ) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและจัดทำระบบโลจิสติกส์ เพื่อวางแผนการผลิต การขนส่งและกระจายสินค้า โดยเฉพาะการยกระดับและปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เจ้าของผลงานจดลิขสิทธิ์ระบบบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่า (www.smartbackhaul.com) เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์อย่างยั่งยืนให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (AOT)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา เป็นคนจังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ระดับปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา Operational Research, University of Hertfordshire ประเทศสหราชอาณาจักร ระหว่างที่มาเป็นอาจารย์ที่สำนักวิชาการจัดการ ได้รับทุนจากกระทรวงพลังงาน ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ทางด้าน Logistics and Supply Chain Management, Curtin University เครือรัฐออสเตรเลีย และยังได้รับ Graduate Diploma in Management Science จาก The Japan-American Institution of Management Science (JAIMS) ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Certificate in Logistics Management จาก AOTS ประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ได้ขอลาปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนทักษะทางด้านการสอนและการทำวิจัย โดยได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่ Curtin University สอนนักศึกษาระดับปริญญาโท ในวิชา Logistics Analytics และ Global Distributions and Transportation และเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาโทในหัวข้อที่เกี่ยวกับ Logistics and Supply Chain Management เป็นเวลา 3 ปี

ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี 2551 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา มีประสบการณ์การทำงานภาคธุรกิจ โดยเคยทำงานให้กับบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญการออกแบบและจัดทำระบบโลจิสติกส์ เพื่อวางแผนการผลิต การขนส่งและกระจายสินค้า โดยเฉพาะการยกระดับและปรับเปลี่ยนระบบการทำงานโดยการใช้เครื่องมือช่วยตัดสินใจ (Decision Support System) ที่ใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ เช่น Optimisation model, Simulation method ร่วมกับการนำเทคโนโลยีมาปรับระบบการทำงานใหม่ (Digital Transformation) ในองค์กร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้สามารถนำประสบการณ์ทั้งจากการสอนหนังสือที่ Curtin University และการทำงานภาคธุรกิจที่หลากหลายมาใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มมุมมองใหม่ๆ ให้กับนักศึกษาอีกด้วย

นอกจากงานด้านการสอนแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ยังมีความสนใจและเชี่ยวชาญในงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์และเครื่องมือทางด้าน Operational Research เช่น Optimisation model , Simulation method ร่วมกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นระบบการจัดการเพื่อใช้ในการบริหารงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 9 โครงการ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติทางด้านโลจิสติกส์ เช่น International Journal of Logistics Management, International Journal of Logistics Research and Applications, International Journal of Logistics Systems and Management และ MIT Global Scale Network และผลงานหนังสือ Using Simulation Tools to Model Renewable Resources : The case of the Thai Rubber Industry ร่วมกับนักวิจัยจาก University of Chile ซึ่งตีพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ Springer International Publishing AG ประเทศ Switzerland และหนังสือ Health4.0 : Next Generation Processes With The Latest Technologies โดยสำนักพิมพ์ Springer Nature Pte Ltd ประเทศ Singapore ร่วมกับ นักวิจัยจาก MIT Supply Chain and Logistics Excellence Center , Singapore National Healthcare Group และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ซึ่งกำหนดตีพิมพ์ในต้นปีหน้า (พศ. 2562) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของกองบรรณาธิการ (Editorial board) วารสาร World Review of Intermodal Transportation Research (WRITR) ซึ่งเป็นวารสารนานาชาติชั้นนำในฐานข้อมูล Scopus ในสาขาโลจิสติกส์ ซัพพลายเชนและการขนส่ง รวมทั้งเป็นวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิอ่านบทความวิจัย และคณะทำงานชุดต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ยังเป็นที่ปรึกษาการวางแผนระบบการจัดการโลจิสติกส์ให้แก่ภาครัฐและเอกชน อาทิ การเป็นคณะทำงานและที่ปรึกษาในการวางแผนยุทธศาสตร์ให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราช ในโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ให้แก่เทศบาลทุ่งสง โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ทำงานร่วมกับสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยในการให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจเพื่อวางกลยุทธ์การลดต้นทุนการขนส่ง และการสร้างมาตรฐานการเป็นผู้ประกอบการด้านการขนส่งของประเทศไทย

เกี่ยวกับปัญหาของระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จรรยา เล่าให้ฟังว่า ระบบการขนส่งทางถนนเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ปัญหาหลักของการขนส่งทางถนน คือ มีต้นทุนดำเนินการที่สูงกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น และมีการปล่อยค่ามลพิษทางอากาศที่สูง ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนการขนส่งทางถนนลงให้ได้ วิธีหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนการขนส่งทางถนนลงได้ คือ การลดการขนส่งรถเที่ยวเปล่า (การขนส่งรถเที่ยวเปล่า คือ การขนส่งที่ไม่มีการบรรทุกสินค้ากลับจากการขนส่งสินค้า) จากงานวิจัยพบว่า สัดส่วนการขนส่งรถเที่ยวเปล่าของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 95 ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษ เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา ที่มีการบริหารจัดการที่ดี อยู่ที่ร้อยละ 20-30 ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่าในรูปแบบ Web-based service (www. smartbackhaul.com) เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบปฏิบัติการในลักษณะตัวกลาง (3PL - broker) ในการบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่าระหว่างบริษัทขนส่ง (Carrier) และตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออก (Shipper) โดยใช้ทฤษฎี Vehicle Routing Problem (VRP) ร่วมกับการสร้างอัลกอริธึมและตัวแบบทางคณิตศาสตร์ (Optimisation model) เพื่อสร้างรายการจับคู่สินค้าและเส้นทางการขนส่งที่เหมาะสมในรูปแบบ Consolidated truck

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยมุ่งเป้า ปี พ.ศ. 2560 โดยผลลัพธ์จากงานวิจัยนี้ได้จดลิขสิทธิ์ (Copyright) และถูกนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์โดย บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (AOT) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการรถบรรทุกที่เข้ามาใช้บริการเพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าภายในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณของรถขนส่งเที่ยวเปล่าที่เข้าออกภายในพื้นที่ ลดปัญหาความแออัดของพื้นที่ และลดต้นทุนการขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งยังเป็นโครงการนำร่องในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (GHG emissions) จากภาคการขนส่งและที่สำคัญเป็น การเพิ่ม Logistics Performance Index (LPI) ให้แก่ประเทศตามตัวชี้วัดของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา เล่าต่อว่า ในปี พศ. 2562 ตนเองและคณะนักวิจัยชุดนี้ ยังคงได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยมุ่งเป้า เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่าต่อให้สามารถบูรณาการกับการบริหารงานด้านการขนส่งได้แบบครบวงจร เพื่อให้ระบบสามารถบริหารการทำธุรกรรม (Transaction) และการดำเนินงาน (Operations) ของการขนส่งได้ รวมทั้งการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงลึก (Business Analytics) เพื่อให้ระบบสามารถพยากรณ์และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ เป็น Platform เพื่อการบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่า (Backhaul Management Technology Platform) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีแนวคิดที่จะขยายผลลัพธ์ของการศึกษาไปใช้ในท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสงขลา และ ICD ลาดกระบัง นอกเหนือจากสนามบิน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่าให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการขนส่ง ( Mode of Transportation ) ทั้งทางอากาศ ทางถนน ทางราง และทางทะเล ของประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

จากประสบการณ์การทำงานเป็นอาจารย์ในต่างประเทศ และการทำงานกับองค์กรทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งการทำงานวิจัยและบริการวิชาการด้านระบบโลจิสติกส์มาอย่างต่อเนื่องของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต จึงเชื่อมั่นได้ว่า ระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยจะพัฒนาไปสู่จุดที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และส่งเสริมการเรียนการสอนของนักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP