News

อาจารย์ ดร.พัชรี อิ่มศรี : บูรณาการการเรียนการสอนภาษาอังกฤษกับงานบริการวิชาการ



อาจารย์ ดร.พัชรี อิ่มศรี อาจารย์ประจำสถาบันภาษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และรักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันภาษาฯ ทุ่มเทเพื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา และบูรณาการการเรียนการสอนกับงานบริการวิชาการให้กับชุมชน โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการฝึกสอนภาษาอังกฤษ

อาจารย์ ดร.พัชรี สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ. ภาษาอังกฤษ) เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับทุนการศึกษา “ทุนเสริมสมอง” มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับปริญญาตรี เป็นนักเรียนทุนแลกเปลี่ยน AFS ประเทศออสเตรเลีย ได้รับทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ตามความต้องการของมหาวิทยาวลัยวลัยลักษณ์ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท M.A. (English - Applied Linguistics) จาก University of Wisconsin at Madison หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก Ph.D. (Linguistics - Applied Linguistics) จาก University of Delaware ในปี พ.ศ. 2546 ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และในปี พ.ศ. 2561 ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำสถาบันภาษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมๆ กับการรับตำแหน่งรักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันภาษาฯ ล่าสุดได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ The UK Professional Standards Framework (UKPSF) ในระดับ Senior Fellow

ด้วยความที่ อาจารย์ ดร.พัชรี ได้รับทุนการศึกษามาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ทำให้ตระหนักเสมอว่า ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นการขอบพระคุณศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้ริเริ่มทุนเสริมสมองสมัยที่ท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (นักเรียนทุนเรียกท่านว่า “พ่อใหญ่”) รวมทั้งหน่วยงานที่ให้ทุนการศึกษา ดังนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาเป็นอาจารย์สอนในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ จึงตั้งใจและพยายามที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้ได้รับทุนมาโดยตลอด จนได้รับรางวัลครูดีเด่น ด้านการเป็นครูจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ.2548

“เป็นหลักในถิ่น” หนึ่งในวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้การสอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาของ อาจารย์ ดร.พัชรี นับตั้งแต่เริ่มสอนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีการศึกษา 2546 ได้บูรณาการกับงานบริการวิชาการให้กับชุมชน โดยได้นำนักศึกษารายวิชา English Phonetics and Phonology จัดโครงการพี่สอนน้องออกเสียงภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ โดยช่วยสอนน้องๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ออกเสียงภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ซึ่งการนำนักศึกษาออกสอนในชุมชนทำให้ได้รับรางวัลบุคลากรเด่นด้านการบริการวิชาการ รางวัลประเภทเชิดชู เมื่อปี พ.ศ. 2559

อีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดเป็นประจำ คือ การจัดค่ายภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยนักเรียนในชุมชนให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษได้มีโอกาสฝึกสอนภาษาอังกฤษซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาที่ประสงค์จะเป็นครูหลังสำเร็จการศึกษา

ไม่เพียงแต่บูรณาการเรียนการสอนและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การเป็นจิตอาสาในชุมชนเท่านั้น อาจารย์ ดร.พัชรี ยังอบรมด้านการออกเสียงภาษาอังกฤษซึ่งเป็นสาขาที่จบมาให้กับครูผู้สอนภาษาอังกฤษทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่การศึกษาที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนอีกหนึ่งงานบริการวิชาการที่ชอบและถนัดคือ การจัดรายการวิทยุด้านภาษาอังกฤษร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ ชื่อรายการ “Everyday English” เผยแพร่ตามสถานีวิทยุในหลายพื้นที่ในภาคใต้

นอกจากงานบริการวิชาการที่ได้ทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แล้ว อาจารย์ ดร.พัชรี ยังได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ มีผลงานวิจัยนำเสนอในที่ประชุมนานาชาติและระดับชาติ จำนวน 27 บทความ ระดับนานาชาติ เช่น บทความเรื่อง The Application of Project-Based Learning on English Pronunciation Training (บรรยาย) ในการประชุม 2nd International Symposium on Applied Phonetics ณ University of Aizu, Fukushima ประเทศญี่ปุ่น บทความเรื่อง Implementing a Community-Based Learning Approach in Improving Thai Learners' English Proficiency (บรรยาย) การประชุม : Third 21st Century Academic Forum Conference at Harvard ณ Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา บทความเรื่อง A Study of Learners’ Knowledge Retention and Application after English Pronunciation Training (บรรยาย) การประชุม : Symposiums of International Languages and Knowledge ณ Universiti Malaysia Perlis ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น และการประชุมระดับชาติ เช่น บทความเรื่อง The Effects of Three Projects on EFL Learners’ Pronunciation Skills (บรรยาย) การประชุม : Symposiums of International Languages and Knowledge 2016 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา บทความเรื่อง From theories to Practice: Students’ Active Engagement in a Reading Class Training (บรรยาย) การประชุม : การประชุมวิชาการ การเรียนรู้เชิงรุก ครั้งที่ 6 The 6th Active Learning National Conference 2018e ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2561 อาจารย์ ดร.พัชรี ได้ย้ายจากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ไปช่วยงานที่สถาบันภาษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะรักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันภาษาฯ ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนรายวิชาภาษาอังกฤษศึกษาทั่วไปให้กับนักศึกษาและจัดบริการวิชาการด้านภาษาอังกฤษให้กับทั้งนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ มีแผนที่จะบริการวิชาการให้กับบุคคลภายนอกในอนาคต

นอกจากงานด้านวิชาการและวิจัยแล้ว อาจารย์ ดร.พัชรี ยังทำงานด้านสังคมอีกด้วย คือ การพยายามช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการมีคนนำสุนัขและแมวมาทิ้งในมหาวิทยาลัย โดยประสานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอความอนุเคราะห์ทำหมันถาวรและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และร่วมกับบุคลากรและนักศึกษาตั้งชมรมเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากการทำหมันถาวรและฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมวจรทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนรายรอบแล้ว ยังได้รณรงค์หาผู้อุปการะ และพยายามนำสุนัขและแมวออกจากมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด โดยได้ใช้ทุนส่วนตัวซื้อที่ดินสร้างที่พักถาวรให้กับสุนัขและแมว และนำสุนัขและแมวออกไปจากมหาวิทยาลัยไปเลี้ยงเองประมาณร้อยกว่าตัว ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำอยู่

อาจารย์ ดร.พัชรี เล่าว่า ทุกๆอย่างที่ทำอยู่ในตอนนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จ เพราะทุกๆ วันคือการเรียนรู้ เป็นประสบการณ์ที่มีค่า ตอนที่ได้รับรางวัลครูดีเด่น รู้สึกแปลกใจมาก เพราะเพิ่งสำเร็จการศึกษาและกลับมาสอนได้ไม่นาน แต่ก็รู้สึกขอบคุณคณะกรรมการและนักศึกษาที่เลือกเราให้ได้รับรางวัลในตอนนั้น อย่างน้อยทำให้รู้สึกว่า สิ่งที่พยายามทำ น่าจะมาถูกทางแล้ว ทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ต้องทำหน้าที่ให้ดียิ่งๆขึ้นไป

อาจารย์ ดร.พัชรี ได้บอกถึงความภาคภูมิใจว่าคือการได้ทำงานวิชาการควบคู่ไปกับงานด้านสังคม การได้เขียนหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ จำนวน 2 เล่ม สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวนเกือบสองพันคนได้ใช้ประกอบการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจากแบบสอบถามนักศึกษาเห็นว่าหนังสือทั้งสองเล่มมีส่วนช่วยพัฒนาภาษาอังกฤษให้นักศึกษาได้มากขึ้น อาจารย์ ดร.พัชรีบอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาว่า เป็นเป้าหมายหลักที่พยายามจะทำให้ดียิ่งๆขึ้น พยายามรับฟังความเห็นจากนักศึกษา เพื่อจะได้ปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษรายวิชาศึกษาทั่วไปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“พร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไป เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักศึกษา จะไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และจะเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการทำหน้าที่สอนหนังสือ เราหยุดเรียนรู้ไม่ได้” อาจารย์ ดร.พัชรี อิ่มศรี ได้กล่าวในตอนท้าย

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP