Research News

นักเรียนศูนย์ พสวท. รร.เบญจมราชูทิศ ได้รับรางวัลจากการนำเสนอผลงานวิจัยสมาร์ทโฟนวัดแสง จากการแนะแนวทางของคณาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และการใช้เครื่องมือจากศูนย์เครื่องมือฯ



โรงเรียนเบญจมราชูทิศ มีความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อย่างต่อเนื่อง ผ่านหลากหลายโครงการ รวมทั้ง ความเชื่อมโยงระหว่าง ศูนย์โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับ มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้นักเรียนในโครงการ พสวท. มีโอกาสเรียนรู้แนวคิด ระเบียบวิธีวิจัย รวมถึงทักษะการใช้เครื่องมือวิจัยในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ศึกษาในระดับชั้นมัธยม เพื่อเป็นรากฐานของการศึกษาวิจัยระดับสูงสุดในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2561 น.ส. ณัฐชานันท์ ทองจันทร์ นักเรียนทุน พสวท. ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้เริ่มพัฒนาหัวข้อโครงงานวิทยาศาสตร์ กับ คณาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่ง รศ. ดร. ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล อาจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ ได้แนะนำแนวทางจากบทความเรื่อง Mobile Phones in the Modern Teaching Of Physics ใน Romanian Reports in Physics และบทความอื่นๆ กว่า 30 เรื่องที่เผยแพร่ในวารสาร Physics Teacher ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้ประโยชน์เซนเซอร์ความแม่นยำสูงในสมาร์ทโฟน วัดปริมาณทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ คลื่น และ สนาม

น.ส. ณัฐชานันท์ ทองจันทร์ จึงได้ออกแบบการทดลองใช้สมาร์ทโฟนวัดการเปลี่ยนแปลงความสว่างของแสงจากแหล่งกำเนิด และผ่านสารละลายขุ่น เป็นการฝึกงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “การประยุกต์ใช้เซนเซอร์จากสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องวัดความสว่างของแสง และความขุ่นของสารละลาย” โดยมีการสอบเทียบกับเครื่องมือมาตรฐาน Lux Meter และ Turbidity Meter ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก ฝ่ายห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมี คุณธินาพร สุทธิวิริยะ นักวิทยาศาสตร์ เป็นผู้สอนวิธีการใช้เครื่องมือ

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา โครงงานนี้เป็นผลงานเดียวที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในกลุ่ม Applied Physics, Mathematics and Computer จากการนำเสนอผลการฝึกงานวิจัยนักเรียนทุน พสวท. ในค่ายวิทยาศาสตร์ฤดูร้อน ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทารา ซีวิว รีสอร์ท เขาหลัก จังหวัดพังงา

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ น.ส. ณัฐชานันท์ ทองจันทร์ ทำโครงงาน ทางสาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้พัฒนา บทปฏิบัติการใหม่ที่ใช้ สมาร์ทโฟนวัดระดับความเข้มของเสียงและความสว่างของแสง เป็น Smart Lab ต่างจากปฏิบัติการพื้นฐานทั่วไปในสถาบันอื่นๆ ให้ นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม อนามัยสิ่งแวดล้อม และ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้ศึกษาในวิชาปฏิบัติการฟิสิกส์ 1 ในภาคการศึกษาที่ 2/2561 ที่ผ่านมา

ก้าวต่อไป คือ การวิจัยที่ใช้สมาร์ทโฟนในการจำแนกสีของวัตถุ และนำผลงานเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติตามฐานข้อมูล ISI เพื่อพิสูจน์ความสามารถของเยาวชนไทยในการออกแบบและทำการวัดที่สร้างสรรค์และแม่นยำสูง จากอุปกรณ์ที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

TOP