News

สสว. จับมือ ม.วลัยลักษณ์ แถลงจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ Excellence Center มุ่งยกระดับให้วิสาหกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง พร้อมสำหรับการแข่งขันในยุค 4.0



สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ Excellence Center มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมเปิดตัวโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ อาจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้กล่าวรายงาน นายถาวรรัตน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจ SME และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม



อาจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้จัดตั้ง Excellence center เพื่อดำเนินการเสริมสร้างอาชีพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน และสนับสนุนประชาชนที่มีความสนใจจะประกอบอาชีพในรูปแบบธุรกิจให้เกิดการรวมกลุ่มกลายเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด เป็นการพัฒนายกระดับวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพให้ได้มาตรฐาน เพื่อขยายโอกาสทางการค้าขายให้มากขึ้น เช่น สินค้า OTOP มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ อย. เป็นต้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัดมากขึ้น โดยคาดหวังว่าการดำเนินงานของศูนย์ Excellence Center จะสามารถส่งเสริม พัฒนา เพื่อยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง พร้อมสำหรับการแข่งขันในยุค 4.0 พร้อมกันนี้ยังสามารถสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป ที่สำคัญจะสร้างรายได้ให้กับ 400 วิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการพัฒนาจากโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี 2562 นี้



สำหรับศูนย์แห่งความเป็นเลิศหรือ Excellence Center ซึ่ง สสว.และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกันจัดตั้งในครั้งนี้จะดำเนินกิจกรรมพัฒนาส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกรอบการส่งเสริมพัฒนา 2 ด้าน ได้แก่ ด้านภาคเกษตร และด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีขอบเขตรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยอาศัยจุดเด่นและศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญในการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมแบบครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของวิสาหกิจชุมชน โดยกล่าวถึงปัญหาของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และสามารถแก้ไขปัญหาผ่านนักวิชาการและประสบการณ์ของนักธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมด้านเกษตรที่มีสามารถนำผลวิจัยมาช่วยในการเป็นข้อมูลให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มความแตกต่าง ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งโครงการดังกล่าว สสว. ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับ 8 มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์











ประมวลภาพ

ข่าวโดยนายณัฐชัย โต๊ะเปี๊ย
ภาพโดยนายอัดดีน ตุลยาพงศ์
นักศึกษาช่วยงานส่วนสื่อสารองค์กร

TOP