News

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี วิทยพันธ์ : การปฏิบัติงานสาธารณสุข/ดูแลสุขภาพชุมชนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี วิทยพันธ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งสร้าง “การเชื่อมโยงระหว่างวิจัย ทฤษฎี และการปฏิบัติ เพื่อประกันว่าบริการสาธารณสุข/การดูแลสุขภาพชุมชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เหมาะสม และไม่เป็นอันตราย” โดยนำแนวคิด “การปฏิบัติงานสาธารณสุขโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน” มาใช้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต(การพยาบาลสาธารณสุข) (นานาชาติ) จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในปี พ.ศ.2555 ได้มาปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ (ขณะนั้น) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำหน้าที่อาจารย์สอนในหลักสูตรกายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยฯ เป็นประธานสาขาสาธารณสุขศาสตร์ และรองคณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2560 ถึง 1 เมษายน 2562

ก่อนหน้าที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี จะมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เคยเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ University of North Carolina at Chapel Hill สหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2551 ได้กลับไปเป็นอาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกเหนือจากประสบการณ์ทำงานในสายวิชาการ ยังได้รับโอกาสทำงานด้านบริหารวิชาการตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อีกด้วย

การได้ปฏิบัติงานฐานะอาจารย์ด้านสาธารณสุขในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี ได้สร้าง “การเชื่อมโยงระหว่างวิจัย ทฤษฎี และการปฏิบัติ” โดยนำแนวคิด “การปฏิบัติงานสาธารณสุขโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์” แนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” และแนวคิด “การปฏิบัติงานสาธารณสุขโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน” มาใช้ในการออกแบบการปฏิบัติงานการเรียนการสอน วิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย โดยได้นำมาบูรณาการงานในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการโดยทำงาน 2 พันธกิจหรือมากกว่า พร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน หรือในรูปแบบที่นำผลที่ได้จากพันธกิจหนึ่ง ส่งต่อ ต่อยอด และขยายผลไปอีกยังพันธกิจหนึ่งหรือมากกว่า รวมถึงได้ถ่ายทอดแนวคิดนี้แก่คณาจารย์/ผู้ร่วมงาน ทั้งในระดับสำนักวิชา และระดับมหาวิทยาลัย เมื่อครั้งปฏิบัติงานด้านบริหารวิชาการ

ผลงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลของการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานต่อการเสริมสร้างสมรรถนะด้านการปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้การวิจัยเป็นฐานฯ” เป็นตัวอย่างแรกของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี ที่บูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอนรายวิชาการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย และการบริการวิชาการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งยังได้พัฒนา “นวัตกรรมการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน สร้างเสริมสุขภาพชุมชนฯ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับการสอนควบคู่ไปกับการทำโครงการ “วิจัยในชั้นเรียน” ที่ถือว่าเป็น “การวิจัยหน้างานของอาจารย์” เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษา

ภายใต้นวัตกรรมฯ นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี ยังได้ทำโครงการ “วิจัยในการให้บริการวิชาการแก่ผู้รับบริการสาธารณสุข” ด้วย โดยได้จัดสภาพการเรียนการสอนเอื้อให้นักศึกษานำความรู้จากการวิจัย/ใช้ผลการวิจัย สู่การปฏิบัติงานสาธารณสุข/ดูแลสุขภาพชุมชนได้แบบมีส่วนร่วมกับผู้รับบริการ และทีมบริการสุขภาพในชุมชน จัดให้มีการประเมินความจำเป็นด้านการสร้างเสริมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย มีการนำปัญหา/ความต้องการที่ได้มาตรวจสอบความสำคัญด้วยการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและคืนข้อมูลกับชุมชนอีกครั้ง ก่อนนำมากลั่นกรองและปรับใช้ในการวางแผนการดำเนินงาน และจัดทำโครงการบริการวิชาการ ที่มีการติดตามวัดประเมินผลอย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีการวิจัย เพื่อประกันว่าการปฏิบัติงานสาธารณสุข/การดูแลสุขภาพชุมชน ที่จะไปให้บริการนั้นจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เหมาะสม และไม่เป็นอันตราย

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นการบูรณาการงานการเรียนการสอน กับการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยจัดทำโครงการ “สานต่อประเพณีไทย ร้อยใจถวายเทียนพรรษา” และโครงการ “สร้างเสริมสุขภาพแก่นักเรียน” พร้อมๆ กัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนรายวิชาการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย ตัวอย่างสุดท้ายคือการบูรณาการความรู้จากงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ ขยายผล ต่อยอดองค์ความรู้ เป็นการดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่อง “การปฏิบัติงานสาธารณสุขโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน” และโครงการบริการวิชาการเรื่อง “เสริมสร้างการปฏิบัติงานสาธารณสุขโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน” โดยได้นำความรู้/ใช้ผลงานวิจัยมาใช้ในการออกแบบกิจกรรมสร้างทักษะประสบการณ์การปฏิบัติงานสาธารณสุขโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน แก่บุคลากรสาธารณสุขในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้สามารถพัฒนางานสาธารณสุขแบบมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน “การปฏิบัติงานประจำให้เป็นงานวิจัย” โดยมีการทำโครงการ “วิจัยหน้างานของบุคลากรสาธารณสุข” ที่จะเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานสาธารณสุขในพื้นที่ มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และเครือข่ายเป็นพี่เลี้ยงวิชาการ รวมถึงสนับสนุนทุนร่วมจากโครงการ/บางส่วนจากหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อเป็นระบบหล่อเลี้ยงให้สามารถพัฒนางานสาธารณสุขได้ตามเป้าหมาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี เล่าว่า โครงการนี้ได้กำหนดให้พี่เลี้ยงวิชาการดูแลให้มีการส่งโครงร่างการวิจัยแก่คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช พิจารณารับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยมีโครงการที่ผ่านการรับรอง จำนวน 36 เรื่อง ผลการวิจัยที่แล้วเสร็จได้นำเสนอในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ จำนวน 12 เรื่อง และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับระดับชาติ จำนวน 8 เรื่อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี มีความเชี่ยวชาญและให้ความสนใจเกี่ยวกับการวิจัยด้านสาธารณสุข/การดูแลสุขภาพชุมชน พฤติกรรมสุขภาพ/การดูแลสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย การปฏิบัติงานประจำให้เป็นงานวิจัย โดยได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายด้านการวิจัยสาธารณสุขให้กับหลายหน่วยงาน มีผลงานเขียน/ร่วมเขียน คู่มือ/หนังสือ จำนวน 3 เล่ม มีผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในเวทีประชุม/วารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติกว่า 40 เรื่อง รางวัลที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน เช่น รางวัลชมเชยนวัตกรรมทางการพยาบาล และรางวัลอาจารย์ดีเด่นประเภทการวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รางวัลเชิดชูบุคลากรด้านการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น ล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี ได้รับการรับรองมาตรฐานการสอนในระดับ Fellow ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและสนับสนุนการเรียนรู้ของประเทศอังกฤษ (The UK Professional Standards Framework) และการรับรองเป็น “วิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยเสริมแรงที่แสดงถึงความสำเร็จในการปฏิบัติงาน

หากแต่ความภาคภูมิใจและแรงจูงใจในการปฏิบัติงานที่แท้จริงของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี มาจากการได้ทำตามเป้าหมายสำคัญที่มุ่งหวังไว้ว่า จะปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษา ผู้รับบริการ และบุคลากรด้านพยาบาลและสาธารณสุข ตลอดจนพัฒนางานด้านพยาบาลและสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์ โดยได้ใช้ภูมิรู้ที่ร่ำเรียนมาจากครู/อาจารย์ และภูมิทำจากประสบการณ์ที่ได้ทำมาตลอดนับตั้งแต่สำเร็จการศึกษา ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ อาจารย์ งานวิชาการและบริหารวิชาการ

เป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ตั้งใจจะทำ คือ “การเขียนหนังสือ/ตำรา” ที่ดีมีคุณภาพในการถ่ายทอดภูมิรู้และภูมิทำ เพื่อรังสรรค์ประโยชน์แก่ศิษย์ทั้งภายในและภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย ที่จะช่วยสรรค์สร้างประโยชน์ด้านสาธารณสุขแก่ชุมชน สังคม และประเทศต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุวดี วิทยพันธ์ กล่าวในตอนท้าย

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP