News

ม.วลัยลักษณ์ ร่วม สกอ. และ UniNet เป็นเจ้าภาพจัด “ WUNCA ครั้งที่ 39” มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม



ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา(UniNet) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ“การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา” ครั้งที่ 39 (Workshop on UniNet Network and computer Application : 39th WUNCA) ภายใต้แนวคิด “Smart University” ระหว่างวันที่ 26 - 28 มิถุนายน 2562 เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายความเร็วสูงระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆภายในประเทศในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช



โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ“Smart University” นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับในนามจังหวัดนครศรีธรรมราช รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา กล่าวรายงาน และ ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม กว่า 1,000 คน

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับและขอขอบคุณ กระทรวงอุดมศึกษาวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ บอกเล่าความเป็น “Smart University ของ ม.วลัยลักษณ์ ว่า เทคโนโลยีและสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สอดคล้องสัมพันธ์กับการคิดค้นปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่สอนให้นักศึกษาสามารถใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบัน ม.วลัยลักษณ์ ประกาศตัวเป็น “Smart University” เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการบริหารจัดการในด้านต่างๆ



ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เนื่องจาก ม.วลัยลักษณ์ มีพื้นที่กว่า 9,500 ไร่ แบ่งเขตการศึกษาชั้นใน กว่า 1,400 ไร่ และพื้นที่รอบนอกที่จะนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ในอนาคตจะได้ดูแลระบบการติดต่อสื่อสารให้มีความทันสมัยครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์เ ด้านองค์กร (Organization) ได้มีการบริหารจัดการและมาตรการลดการใช้กระดาษภายในองค์กร ทั้งการลดกระดาษในห้องเรียน การทำงานของหน่วยงานต่างๆโดยการใช้ระบบ e-office เน้นการดำเนินงานทุกอย่างอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และปรับเปลี่ยนการวัดผลการเรียนนักศึกษาด้วย ระบบ e-Testing หรือการใช้ e-Signature สำหรับผู้บริหาร ซึ่งการดำเนินทั้งหมดนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษลงได้กว่า 2 ล้านบาท

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมากที่สุดคือ คุณภาพด้านการเรียนรู้ (Learning) ของนักศึกษาจึงได้ปฏิรูปการเรียนการสอน โดยการนำกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ UKPSF (The UK Professional Standards Framework) จาก The Higher Education Academy (HEA), UK มาใช้สำหรับการเรียนการสอน เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนมีทักษะความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพในการสอนมากขึ้น รวมถึงเพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มากกว่าการเรียนแบบท่องจำ อีกทั้งยังกำหนดให้หลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพดูแลนักศึกษาต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ส่วนหลักสูตรที่ไม่มีสภาวิชาชีพกำหนด นักศึกษาต้องสอบประมวลความรู้ Exit-Exam ผ่าน 90% โดยจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเป็นบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถจากมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ม.วลัยลักษณ์ ยังให้ความสำคัญด้านภาษาอังกฤษ โดยจัดตั้งสถาบันภาษา สอนภาษาอังกฤษโดยอาจารย์ชาวต่างชาติ เพื่อให้นักศึกษาจบไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ ด้านห้องเรียน (Class room) ได้ใช้ห้องเรียนขนาดเล็กในการเรียนการสอนและปรับปรุงให้เป็น Smart Classroom มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย แก้ปัญหาการสื่อสารทางเดียวระหว่างผู้สอนและผู้เรียน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ ชีวิตและสุขภาพ (Life & Health) โดยจัดทำระบบการดูแลสุขภาพ การให้คำแนะนำออนไลน์ ผ่าน Application และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ โดยการปรับปรุงสนามกีฬาทุกชนิด ให้มีมาตรฐานระดับสากล

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 5,600 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ (WU Hospital) ขนาด 750 เตียง เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในภาคใต้ตอนบน โดยคาดว่า ภายในปี 2564 นี้จะสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยได้จำนวน 120 เตียง และภายในปี 2565 จะสามารถเปิดให้บริการได้ 490 เตียง จนครบ 750 เตียงในอนาคต โดยจะสามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี พร้อมระบบสารสนเทศทางการแพทย์แบบสมัยใหม่มาใช้ ด้านการขนส่ง (Transportation) ได้นำรถไฟฟ้ามาให้บริการนักศึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์ของนักศึกษา ด้านความปลอดภัย (Security) มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัย ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย การก่อสร้างหอพักที่มีรั้วล้อมรอบ กำหนดเวลาเข้า -ออกที่ชัดเจน และการส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยได้ดำเนินการในทุกๆ มิติ ตามกรอบของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ทั้งสถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการขยะ น้ำ ระบบขนส่ง และการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายขององค์กร ทั้งยังมีสวนวลัยลักษณ์ บนเนื้อที่กว่า 255 ไร่ เป็นสวนสาธารณะในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องสุดท้าย ด้านการทำฟาร์ม (Farming) มีการจัดตั้งศูนย์ Smart Farm ทำเกษตรกรรม ปลูกพืช สวนผลไม้ชนิดต่างๆ และการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิด และโรงเรือนเลี้ยงสุกร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นทั้งแหล่งวิจัยของอาจารย์และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนักศึกษา ทั้งหมดนี้คือความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้บริหารจัดการเพื่อก้าวไปสู่การเป็น “Smart University” อย่างเต็มรูปแบบ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าว



ด้านนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ มีความสำคัญทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและศาสนา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีมรดกด้านวัฒนธรรม ประเพณี พี่น้องประชาชนมีวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ มีมรดกทางภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่นน่าสนใจ ปัจจุบันทางจังหวัดและประชาคมของจังหวัดกำลังพัฒนาเมืองนครศรีธรรมราช ให้เป็นเมืองนครแห่งธรรม เป็นจังหวัดที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว มีการพัฒนาด้านการเกษตร การอุตสาหกรรมให้มีความมั่นคง ยั่งยืน จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ของจังหวัดเอาไว้ว่า “นครแห่งอารยธรรม น่าอยู่ น่าเที่ยว การเกษตรและอุตสาหกรรมยั่งยืน” และได้รับการยกย่องว่าเป็นนคร 2 ธรรม ธรรมแรกคือ “ธรรมะ”เพราะเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา มีมรดกทางวัฒนธรรมและวัดวาอารามมากมาย มีสถานที่ท่องเที่ยวตามศรัทธา ความเชื่อ กระจายอยู่ทุกท้องที่ของจังหวัด ที่โดดเด่นในพื้นที่อำเภอเมือง คือ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวนครและเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากโบราณสถาน โบราณวัตถุที่กระจายอยู่ทั่วเมืองนครแล้ว ธรรม อีกอย่างหนึ่ง คือ “ธรรมชาติ” โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น มี 23 อำเภอ ซึ่งลักษณะภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์และสังคม มีลักษณะแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกเป็นโซนได้ตั้งแต่ โซนเขา ป่า นา เล และมีส่วนหนึ่งเป็นป่าพรุ ในใจกลางเมืองก็มีความเป็นเมือง ซึ่งในแต่ละกลุ่มโซนพื้นที่ มีความโดดเด่น มีลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ขอบคุณคณะกรรมการจัดงานที่ให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเจ้าภาพจัดงานต้อนรับสมาชิกเครือข่าย UniNet จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในครั้งนี้ กระผมเชื่อว่าการจัดงานในวันนี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางและทิศทางด้านเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา ตลอดจนผู้ร่วมงานได้ใช้โอกาสอันดีนี้ ได้พบปะแลกเปลี่ยนให้ความรู้ ความเข้าใจและความคิดเห็นระหว่างกัน



รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา” ครั้งที่ 39 (Workshop on UniNet Network and computer Application : 39th WUNCA) สำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา(UniNet) ร่วมกับ ม .วลัยลักษณ์ จัดงานในครั้งนี้ ซึ่ง UniNet เป็นหน่วยงานที่ใช้งานเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษาและวิจัย เพื่อกระจายองค์ความรู้ ด้านการเรียนการสอนให้อยู่ในระดับเดียวกันทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยได้ก่อตั้งในปี พ.ศ.2539 และได้เชื่อมต่อเครือข่ายไปยังต่างประเทศ ด้วยไฟเบอร์ออฟติก ความยาว 67,000 กิโลเมตร ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายทั้งหมด 10,000 แห่ง รวมอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยทั้งหมด และโรงเรียนขนาดใหญ่ อีก 10,000 โรงเรียน จากทั้งหมด 35,000 โรง

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า UniNet ได้ให้บริการโครงข่าย ใช้เส้นทางในการเชื่อมโยงโครงข่ายความเร็วสูงประมาณ 50 GB โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ได้อัพเกรดความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 100 GB ในการให้บริการสมาชิกและสามารถรองรับโรงเรียนส่วนที่เหลือได้ทั้งหมด มีดาต้าเซ็นเตอร์และให้บริการคลาวด์ แก่มหาวิทยาที่ยังไม่มีหรือไม่พร้อม โดย UniNet มีแล็ปให้มหาวิทยาลัยสามารถนำเซิร์ฟเวรอ์มาฝากไว้ได้และในปีนี้ กำลังดำเนินการบริหารจัดการ มาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 27000 นอกจากนี้ มีการดูแลสมาชิกเรื่องเครือข่ายการเรียนรู้ ThaiLIS ประกอบไปด้วยห้องสมุดอัตโนมัติ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเครือข่ายนี้ 84 มหาลัย สามารถยืมคืนด้วยกันได้มากที่สุด โดยเฉพาะ ม .วลัยลักษณ์ที่มีสมาชิกมากที่สุด จำนวน 82 แห่ง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 7 ในการปรับปรุงเครือข่ายสื่อสารการเรียนรู้ การจัดงานวันนี้มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ผ่านเว็บไซต์และเฟสบุ๊ค IPTV และการซื้อฐานข้อมูลรวมภายในประเทศ โดยปีทีผ่านมา มีการเข้าถึงข้อมูลประมาณ 35 ล้านครั้ง สามารถเข้าถึง Content ได้กว่า 25 ล้าน Content นี่คือจุดสำคัญที่เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศดูแลเพื่อนสมาชิก การจัดในครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดประโยชน์สำหรับสมาชิกและได้ร่วมกันพัฒนาเครือข่ายนี้ให้เป็นเครือข่ายแห่งชาติต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ กล่าว



ด้าน ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าว่า งานประชุมเชิงปฏิบัติการ“การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา”ครั้งที่ 39 (Workshop on UniNet Network and computer Application : 39th WUNCA) ครั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ร่วมกับ ม.วลัยลักษณ์ จัดขึ้นภายใต้ชื่อกระทรวงใหม่ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” จากเดิมที่อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวงใหม่นี้ได้บูรณาการเรื่องการจัดการเรียนการสอน การบูรณาการบัณฑิตและพัฒนากำลังพลของประเทศ ที่สำคัญคือ รวมเรื่องการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม กระทรวงนี้จึงทำหน้าที่ขับเคลื่อนความสามารถของประเทศที่สำคัญใน 2 เรื่อง คือ สร้างกำลังพลและสร้างองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ๆกับประเทศ

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไป มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวไม่น้อย ขณะนี้มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง ได้ลุกขึ้นมาทบทวนบทบาท ภารกิจของตนเอง ทั้งการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และเชื่อมั่นว่าสถาบันหรือมหาวิทยาลัยได้พิจารณาแล้วว่าผลสุดท้ายจะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและศักยภาพ และเชื่อมั่นว่าถ้ามหาวิทยาลัยสามารถที่จะปฏิรูปตนเอง ทั้งเรื่องการเรียนการสอน การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่สนใจอยากจะเข้ามาเรียน เปลี่ยนระบบการเรียนการสอนใหม่ สิ่งนั้นจะนำพามาซึ่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัย และเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญมากในโลกยุคปัจจุบัน ขณะนี้การใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน ทักษะต่างๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน กระบวนการเรียนการสอนจำเป็นต้องเปลี่ยนตามเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นตัวช่วยได้อย่างมาก



ดร.อรสา ภาววิมล กล่าวอีกว่า ภาครัฐได้ลงทุนกับการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา หรือเดิมเรียกว่า UniNet ด้วยจำนวนเงินมหาศาลและมีความมุ่งหวังว่า เรื่องระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ตต่างๆไม่ว่าจะใช้เพื่อการเรียนการสอนและการวิจัยนั้น จะต้องนำพาไปสู่การยกระดับคุณภาพ การจัดการศึกษา คุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัย อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ วัตถุประสงค์ของการให้มีเครือข่ายนี้ คือ เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ลงไปถึงทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะนี้ลงไปถึงสถานศึกษากว่า 10,000 แห่ง เพราะฉะนั้น สถานศึกษาทุกแห่ง ทั้งเด็กและครูบาอาจารย์จะได้ใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างเต็มที่และไม่น้อยไปกว่านั้น 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่จะให้เข้าถึงความรู้ แต่ยังสร้างฐานข้อมูลเรื่องงานวิจัย มีการรับฐานข้อมูลวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากลไม่น้อยไปกว่า 11 ฐาน ให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยและบัณฑิตศึกษาได้ใช้ประโยชน์ แม้กระทั่งเรื่องห้องสมุดที่พยายามจะให้มีการใช้ทรัพยากรระหว่างกันและการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐได้ลงทุนให้กับการสร้างคนของประเทศ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและงานวิจัยที่อยู่ในระบบไม่ใช่เฉพาะเชื่อมภายในประเทศ แต่เป็นการเชื่อมไปสู่หน่วยงานมหาวิทยาลัยวิจัยต่างประเทศด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์มหาศาลกับการลงทุนของรัฐแต่อย่างไรก็ตามจะเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา/สถานศึกษาต่างๆ อาจจะต้องหันกลับมาดูว่าจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีนี้ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

ดร.อรสา ภาววิมล กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดประชุมนี้ได้เวียนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของคณาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในระบบการศึกษา ซึ่งทุกท่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Digital ใหม่ๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จากวิทยากรกว่า 100 ท่าน ผู้เข้าร่วมจะมีโอกาสนำความรู้ใหม่ๆไปใช้พัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของท่านและผลสุดท้ายจะตกกับนิสิต นักศึกษา สังคมและประเทศชาติซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทางจังหวัดนครศรีธรรมราชและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ร่วมต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น





จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีการสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา และ รองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัวลัยลักษณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดงาน ร่วมกันกดปุ่มเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา” ครั้งที่ 39 (WUNCA) ภายใต้แนวคิด “Smart University” อย่างเป็นทางการ พร้อมชมการแสดงชุด “Digital Transformation Dance” จากชมรมนาฏศิลป์ ม.วลัยลักษณ์ และพิธีส่งมอบโล่เจ้าภาพการจัดงานครั้งต่อไปแก่ ม.ราชภัฏกาญจนบุรี ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร อธิการบดี ม.ราชภัฏกาญจนบุรี เป็นผู้รับมอบจากคณะเจ้าภาพการจัดงานครั้งนี้













ประมวลภาพ



ข่าวและภาพ ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

TOP