Research News

ม.วลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการระดับชาติ “สารสนเทศศาสตร์วิชาการ 2019” เผยแพร่งานวิชาการและนวัตกรรมที่สำคัญในศตวรรษที่ 21



สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ สารสนเทศศาสตร์วิชาการ 2019 (National Conference on Informatics, NCIs2019) ระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์และระบบอัจฉริยะ การจัดการสารสนเทศและสื่อดิจิทัล นิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีมัลติมีเดีย แอนิเมชัน และเกม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง



เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประธานในพิธี และรองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาการสนเทศศาสตร์ กล่าวรายงาน การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Smart Learning” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้จัดทำหลักสูตรบัณฑิตพันธ์ใหม่รุ่นแรกที่ได้รับการอนุมัติหลักสูตรจาก สกอ. และการอภิปรายหัวข้อ “Technology for Teaching and Learning in the next Century” พร้อมผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วม

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า งานประชุมวิชาการระดับชาติสารสนเทศศาสตร์วิชาการ (National Conference on Informatics, NCIs2019) หัวข้อ Smart Learning ในครั้งนี้ เป็นการประชุมวิชาการที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งจัดรูปแบบในกระบวนการเรียนการสอน สำหรับการเรียนรู้ในทุกระดับ ซึ่ง “Smart Learning” จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษนี้

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า คำว่า Education และ Learning หมายถึง การเรียนรู้ แต่ต่างกันที่ คำว่า Education เป็นการเรียนรู้แบบที่มีคนอื่นมาสอน ส่วนคำว่า Learning หรือ Self –Learning คือการเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตนเอง แม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากมาย แต่อาจมีข้อจำกัดกับบางสาขาวิชาที่ต้องมีคนสอน ต้องใช้ห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ และอาศัยความน่าเชื่อถือ เช่น สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ เป็นต้น จึงไม่สามารถเรียนแค่ทฤษฎีหรือหลักการได้ การศึกษาในมหาวิทยาลัยจึงยังมีความสำคัญ ไม่สามารถมีเทคโนโลยีการศึกษาด้วยตนเองมาทดแทนได้ แต่บางศาสตร์สาขาวิชาก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตนเองให้มาก จึงจะประสบความสำเร็จ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่ไม่สามารถอาศัยการเรียนเฉพาะในห้องเรียนที่มีเวลาน้อยได้เพียงอย่างเดียว สาขาวิชาเหล่านี้จะมีเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือ Informatics เหล่านี้ก้าวหน้าไปมาก มหาวิทยาลัยเองในฐานะสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี หรือ AI อย่างชาญฉลาด ในฐานะทั้งผู้คิดค้นวิจัย พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นและในฐานะผู้นำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ของผู้เรียน

การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ของผู้นำเสนอผลงาน นักวิจัย นักวิชาการที่เข้าร่วมในการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นร่วมกันระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งกลุ่มวิชาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอัจฉริยะ การจัดการสารสนเทศและสื่อดิจิทัล นิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีมัลติมีเดียแอนิเมชันและเกม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยคุณภาพมากขึ้นอีก ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการที่เข้มข้นต่อไปในอนาคต



ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติสารสนเทศศาสตร์วิชาการ ครั้งที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ ระบบอัจฉริยะ การจัดการสารสนเทศและสื่อดิจิทัล ที่มีสาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย แอนิเมชั่นและเกม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้เน้นงานวิชาการและนวัตกรรมด้าน Smart Learning และได้กำหนดรูปแบบการจัดงานให้มีการบรรยายพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนา การประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงานวิชาการแบบบรรยาย การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ • Information Technology and Innovation• Software and Intelligence System• Digital Learning and Services Design• Mass Communication และ Multimedia Animation and Game ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณาจารย์นักวิชาการ นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป จากสถาบันต่างๆที่นำเสนอผลงานจำนวน 34 บทความจาก 14 สถาบันทั่วประเทศ

งานประชุม NCIs ในปีนี้ เน้นงานวิชาการและนวัตกรรมด้าน Smart Learning โดยในวันที่ 25 มิถุนายน 62 Keynote Speaker: หัวข้อ “Smart Learning” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้จัดทำหลักสูตรบัณฑิตพันธ์ใหม่รุ่นแรกที่ได้รับการอนุมัติหลักสูตรจาก สกอ. และ Panel Discussion: หัวข้อ “Technology for Teaching and Learning in the next Century” วันที่ 26 มิถุนายน 2562 Keynote Speaker: หัวข้อ “Smart University” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ Panel Discussion: หัวข้อ “Smart University for 21st Century” ร่วมกับงานประชุมวิชาการ WUNCA 39th วันที่ 27 มิถุนายน 2562 ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้า Workshop เรื่อง “การประยุกต์ใช้ Board Game เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรูปแบบ Active Learning” ณ งานประชุมวิชาการ WUNCA 39th ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องกัน







ประมวลภาพ
ข่าวและภาพ โดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

TOP