News

เภสัชฯ มวล. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ “เภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2562” คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จาก 19 สถาบัน ทั่วประเทศเข้าร่วม



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ “เภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2562 : สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางการศึกษาเภสัชศาสตร์” (Thai Pharmacy Education National Conference 2019 : Current Issues and Trends in Pharmacy Education ) เพื่อรับทราบข้อมูล สถานการณ์ ทิศทางการพัฒนาหลักสูตร และการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของชุมชนในบริบทของวิชาชีพเภสัชศาสตร์และสหสาขาวิชาชีพอื่น ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมแกรนฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช

โอกาสนี้ได้มีพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านวีดีโอ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศศภท.) และคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา จันทรัตน์ รองคณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์กล่าวรายงาน

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า การทำงานทางด้านเภสัชศาสตร์มีความสำคัญกับประเทศเป็นอย่างมาก เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องในเรื่องของเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกมีความจำเป็นที่จะต้องดูแล ทั้งเรื่องของการศึกษา การผลิต และการจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ให้มีความเจริญก้าวหน้าทันต่อการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งโรคในปัจจุบันมีลักษณะแปลกและแตกต่างไปมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าคณะวิชาเภสัชศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ ให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ ขณะเดียวกันจะได้ส่งเสริมให้นักศึกษาทางด้านเภสัชฯ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ เพื่อเป็นเภสัชกรที่ดีในอนาคตต่อไปในการช่วยส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง

ในแต่ละปีประเทศไทยมีความต้องการใช้ยาเป็นจำนวนมากและยาจำนวนมากเหล่านี้ ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท/ปี หากคณะหรือสำนักวิชาทางด้านเภสัชศาสตร์ ช่วยกันให้การศึกษา ให้นักศึกษาสามารถคิดค้นวิจัยองค์ความรู้ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรคได้มากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยลดภาระการสั่งซื้อเวชภัณฑ์จากต่างประเทศได้ และที่สำคัญการทำงานของเครือข่ายเภสัชศาสตร์ถือว่ามีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้สถาบันการศึกษาทั้ง 19 แห่ง ได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดโดยเฉพาะท่านคณบดีแต่ละสถาบันที่ทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทำให้องค์การเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย มีความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้ามาถึงวันนี้

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้กำลังใจทุกท่านที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อประโยชน์ทั้งเรื่องของการศึกษาทางด้านเภสัชฯและความก้าวหน้าทางด้านวิชาการให้มีความทัดเทียมกับอารยประเทศทั้งหลายยิ่งขึ้น ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาวิชาการทางด้านเภสัชศาสตร์ในทุกมิติอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทั้งด้านวิชาการและการค้นคว้าวิจัย เรื่องการให้บริการพี่น้องประชาชน เพื่อให้ได้รับยารักษาโรคที่ดี ที่ถูกต้อง หายจากการเจ็บป่วยโดยเร็ว นี่คือนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมสำนักวิชาเภสัชศาสตร์



ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งการทำงานร่วมกับวิชาชีพสาธารณสุขอื่นๆ ซึ่งบริบทของวิชาชีพเภสัชศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีการให้บริการที่จะต้องให้ผู้รับบริการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับบริการ มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาจึงต้องปรับตัวให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัย ทั้งในด้านวิชาชีพที่จะต้องปรับการเรียน การสอน ให้เภสัชกรมีความรู้ ความสามารถเท่าทันเทคโนโลยี

จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการจัดประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ในแต่ละปีที่เภสัชกรจะได้ข้อมูล ความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ต่อการนำไปใช้ในการปรับการศึกษาและถือเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากสถาบันอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับสถาบันที่ท่านดูแล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะส่งผลให้เภสัชกรประสบความสำเร็จ มีความรู้ ความสามารถ ในการทำงาน พัฒนาองค์การเภสัชกรรมและพัฒนาการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ดียิ่งขึ้น

การจัดประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์ศึกษาได้จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปี พ.ศ. 2562 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านเภสัชศาสตร์ศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย ศศภท.) มอบหมายให้สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพ ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้มีการกำหนดประเด็นในการประชุมที่คำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ทิศทางใหม่ๆที่เกิดขึ้นใน แวดวงเภสัชศาสตร์ศึกษา และในกลุ่มคณะทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนการเชื่อมร้อยการพัฒนาเภสัชศาสตร์ศึกษากับสภาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเด็นคุณลักษณะ และสมรรถนะของเภสัชศาสตรบัณฑิตตามที่สภากำหนด นอกจากนี้ในงานประชุมวิชาการยังคงมีการนำเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ศึกษาแบบโปสเตอร์ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้งานวิจัย เกิดเครือข่ายความร่วมมือการทำงานด้านเภสัชศาสตร์ศึกษาระหว่างคณาจารย์ของสถาบันต่างๆ ต่อไป







ข่าวและภาพ ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

TOP