Research News

โรคไข้เลือดออกต้องการแนวทางการแก้ปัญหาเชิงระบบ โดย “ทำให้ง่าย ทำเป็นเป็นทีม ทำพร้อมกัน และ ทำต่อเนื่อง”

โรคไข้เลือดออกต้องการแนวทางการแก้ปัญหาเชิงระบบ โดย “ทำให้ง่าย ทำเป็นเป็นทีม ทำพร้อมกัน และ ทำต่อเนื่อง”

ปี 2562 โรคไข้เลือดออกของประเทศไทยพบสถิติ พุ่งสูงเกือบ 2 เท่าของปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช พบผู้ป่วยไข้เลือดอก 1,518 ราย และเสียชีวิต 6 ราย

สถิติการระบาดของโรคไข้เลือดออกล่าสุด เดือนกรกฎาคม 2562 ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 53,699 คน เสียชีวิต 65 คน มีอัตราสูงเป็น 2 เท่าของช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา



จังหวัดนครศรีธรรมราช จากรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในช่วงเดือนมกราคม- มิถุนายน 2562 จำนวน 1518 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 97.47 รายต่อแสนประชากร อัตราป่วยตายจำนวน 6 ร้อยละ 0.40 ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มีอายุอยู่ในช่วง 10-14 ปี โดยอำเภอที่พบอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ คือ อำเภอเมือง อำเภอนาบอน อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอท่าศาลา และ อำเภอพิปูน ตามลำดับ (งานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, มิถุนายน 2562) ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสาเหตุของการระบาดในปี 2562 เนื่องจากนี้มีฝนตกสลับกับอากาศแล้ง ซึ่งเอื้อต่อการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อีกทั้งยังตรวจพบไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 มากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเชื้อดังกล่าว หากผู้ป่วยติดเชื้อครั้งที่สอง จะแสดงอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้ (กรมควบคุมโรค, 2562) สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตในจังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 6 ราย ที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยเด็ก มีอาการรุนแรงจากการรับประทานยากลุ่มแอสไพรินหรือกลุ่มเอ็นเสด หรือซื้อยากินเอง ผลตรวจพบเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2

ในภาพรวม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงอย่าให้ยุงกัด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด นอนในมุ้งหรือป้องกันด้วยยากันยุง ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ถ้าหากมีอาการไข้สูงภายในสองวันอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง และเลี่ยงการกินยากลุ่มแอสไพรินหรือกลุ่มเอ็นเสด เพราะจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเลือดออก และดำเนินการเร่งดำเนินการรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั่วประเทศ จัดทีมเจ้าหน้าที่สำรวจและทำลายภาชนะน้ำขัง และพ่นยาฆ่ายุงในรัศมี 100 เมตรตามชุมชนต่างๆ (กรมควบคุมโรค, 2562)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งดำเนินการในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชนและโรงพยาบาลในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาตลอด 17 ปี พบหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่สามารถยืนยันแนวคิดการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกที่เน้นการป้องกันการเกิดโรคด้วยการจัดระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย และการทำนายหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดอัตราการป่วย ตลอดถึงแนวปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกจากบ้านถึงโรงพยาบาลเพื่อลดอัตราการป่วยตาย

ดังตัวอย่าง ของการดำเนินการ “ทำให้ง่าย ทำเป็นเป็นทีม ทำพร้อมกัน และทำต่อเนื่อง” เพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก

1. “ลานสกาโมเดล” “นบพิตำโมเดล” ซึ่งเป็นการดำเนินการโดย
1) ติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย ด้วยการบูรณาการกับบริบทของพื้นที่ ดำเนินการจัดระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายจากบ้านถึงอำเภอ โดย แบ่งหมู่บ้านออกเป็นโซนพร้อมสมุดในการดำเนินการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย และพัฒนาสมรรถนะด้านความรู้เกี่ยวกับโรคและดัชนีลูกน้ำที่เปรียบเทียบกับความชุกของยุงลายในพื้นที่ ดำเนินการในการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำ 6 ขั้นตอน ดังภาพและหนังสือคู่มือ






2) แนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกจาก บ้าน รพสต. รพช. และ รพ. จังหวัด โดยบูรณาการกับแนวปฎิบัติที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประชาชน สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังแผนภูมิ



2. การดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี “สุราษฎร์ธานีเดงกีโมเดล” ประกอบด้วยการดำเนินการในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไชยา อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ และอำเภอบ้านตาขุน โดยใช้แนวคิดของการดำเนินการที่มุ่งเน้นการดำเนินการเชิงระบบและนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (http://denguelim.com) มาใช้ในการสื่อสารข้อมูล “ทำให้ง่าย ทำเป็นเป็นทีม ทำพร้อมกัน และทำต่อเนื่อง”

ทำให้ง่าย หมายถึง การพัฒนาสมรรถนะของประชาชน อสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าใจ 3ระยะของโรคไข้เลือดออก อาการที่สำคัญ การติดต่อจากคนยุงเชื้อโรคคนในรอบ 28 วัน และการดูแลที่สำคัญ และการสร้างความตระหนักในการประมาณการความเสี่ยงการระบาดของจำนวนยุงลายตัวเมียจากค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ตัวอย่างเช่น ค่าดัชนีของภาชนะที่มี 3 ชิ้นจากภาชนะที่มีน้ำที่สำรวจ 10 ชิ้น ประมาณการว่ามีความชุกของยุงลายตัวเมีย 200,000 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร (WHO, 1993)

ทำเป็นทีม หมายถึง การดำเนินการเชิงระบบที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ การบูรณาการกับบริบทพื้นที่ จากบ้าน ถึง หมู่บ้าน ถึง ตำบล ถึง อำเภอ ถึงจังหวัด ตัวอย่าง ทีมในการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายของแต่ละโซนในแต่ละหมู่บ้านจะมีแกนนำหมู่บ้านเข้าร่วมกับ อสม.

ทำพร้อมกัน หมายถึง การดำเนินการเฝ้าระวัง การป้องกัน การดูแลและรักษา ดำเนินการพร้อมกันโดยเฉพาะการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำที่ดำเนินการพร้อมกันทั้งอำเภอในวันที่ 25, 28 และ 30 ของเดือน ตัวอย่าง ผลการดำเนินการตามระบบเฝ้าระวังฯ ของอำเภอกาญจนดิษฐ์ จำนวน 117 หมู่บ้านของ อสม. จำนวน 2,340 คน

ทำต่อเนื่อง หมายถึง การดำเนินการที่ต่อเนื่องซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดำเนินการต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปีเพื่อยืนยันว่าผลการดำเนินการเกิดความยั่งยืนในพื้นที่ ดังเช่น การดำเนินการของอำเภอลานสกาที่ดำเนินการมาถึง 7 ปี ดังภาพ



การดำเนินการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกมีหลากหลายวิธี แต่ไม่มีวิธีการในดีที่สุดเท่ากับการลงมือทำด้วยตัวเองของทุกคน ในครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ดังตัวอย่าง การดำเนินการของอำเภอนบพิตำที่ได้ดำเนนินการติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย พบว่า จำนวนลูกน้ำยุงลายลดลง และประชาชนมีการตื่นตัวให้ความร่วมมือ ดังผลการสำรวจดัชนีลูกน้ำ ดังกราฟ





ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความตั้งใจในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของพื้นที่ต่างๆ โดยดำเนินการตามนโยบายและวิสัยทัศน์ “เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล”



TOP