News

ผู้บริหาร มวล. ต้อนรับ 4 ส.ส. นครศรีฯ เยี่ยมชมศูนย์การแพทย์ฯม.วลัยลักษณ์





ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ให้การต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ พรรคพลังประชารัฐ นายสายัณห์ ยุติธรรม พรรคพลังประชารัฐ นายเทพไท เสนพงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ นายชัยชนะ เดชเดโช พรรคประชาธิปัตย์ และนายคธา รุ่งโรจน์รัตกุล ผู้แทนนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาเยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ มวล. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวระหว่างการนำชมพื้นที่การก่อสร้างศูนย์การแพทย์ฯ ว่า ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการศูนย์การก่อสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขนาด 750 เตียง งบประมาณ 5,600 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นโรงเรียนผลิตแพทย์ตอบสนองการขาดแคลนแพทย์พื้นที่ภาคใต้ตอนบน ส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ระดับตติยภูมิให้สอดคล้องเท่าทันกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ของโลก รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์แก่พี่น้องประชาชนที่ป่วยด้วยโรคภัยที่สลับซับซ้อน หรือโรคตติยภูมิในภาคใต้ตอนบนทั้งหมด

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ระยะแรก มูลค่า 2,128 ล้านบาท ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ฯ จำนวน 5 อาคาร และอาคารที่พักอาศัย 435 หน่วย ขณะนี้โดยภาพรวม ณ เดือนสิงหาคม 2562 ได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ซึ่งถือเป็นผลงานที่น่าพอใจเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนงานสถาปัตยกรรมและงานระบบต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้ และปลายปี 2563 ศูนย์การแพทย์ม.วลัยลักษณ์ จะเปิดให้บริการขนาด 120 เตียง ต้นปี 2565 จะเปิดให้บริการ 419 เตียง และจะขยายให้ครบ 750 เตียงในระยะต่อไป

“ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะเป็นศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัย มีการนำระบบไอทีมาใช้ทั้งหมด ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ทำเสนอของบประมาณการตกแต่งภายในและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์เป็นงบผูกพัน จำนวนกว่า 950 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโรงพยาบาลแห่งนี้เปิดบริการเต็มรูปแบบแล้วจะเป็นโรงพยาบาลหลักของภาคใต้ตอนบน คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการกว่า 1 ล้านคนต่อปี และรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ประสานงานกับจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อก่อสร้างทางยกระดับบริเวณถนนทางเข้าทางหลวง 401 การขยายถนนจากหน้ามหาวิทยาลัย-ศูนย์การแพทย์จาก 4 เลนเป็น 6 เลน รวมถึงการปรับปรุงถนนที่อยู่บริเวณรายรอบมหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนี้ยังได้สร้างสวนวลัยลักษณ์เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของบุคลากร นักศึกษารวมถึงผู้ที่จะมาใช้บริการศูนย์การแพทย์ในอนาคตด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเยี่ยมชมพื้นที่การก่อสร้างศูนย์การแพทย์ฯ ส.ส.ทั้ง 4 ท่าน ได้กล่าวชื่นชมถึงความตั้งใจของคณะผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่ร่วมใจกันอย่างแข็งขันในการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และทำให้การก่อสร้างศูนย์การแพทย์ฯ แห่งนี้มีความคืบหน้าไปอย่างมาก ในส่วนของ ส.ส.ของนครศรีธรรมราชทุกคน ยินดีที่จะร่วมกันผลักดันมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องแผนงบประมาณต่างๆ ที่จะมาสนับสนุนโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และพี่น้องในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนในการเดินทางไปรักษานอกเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน









ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร

TOP