News

รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ ธนะภพ “มุ่งพัฒนางานสาธารณสุขชุมชน โดยบูรณาการวิจัยและบริการวิชาการด้านอาชีวอนามัยปฐมภูมิ”

รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ ธนะภพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เน้นงานวิจัยเพื่อการพัฒนางานอาชีวอนามัยปฐมภูมิ ในการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนและแรงงานนอกระบบในชุมชน โดยบูรณาการกับการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์ วิชาเอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ปริญญาโทหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้มาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาระงานส่วนใหญ่จึงเน้นด้านการเรียนการสอนและการเตรียมความพร้อมเพื่อการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ

ในปี พ.ศ. 2546 รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกจากโครงการทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาระบาดวิทยา (นานาชาติ) หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในอู่ต่อเรือของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาอาชีวอนามัยในชุมชนที่สำคัญ เนื่องจากสารตะกั่วส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งคนงาน สมาชิกในครอบครัวและชุมชน

ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ ได้มุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนางานอาชีวอนามัยปฐมภูมิ ในการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนและแรงงานนอกระบบในชุมชน โดยบูรณาการกับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย อาทิ การส่งเสริมการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพของเกษตรกรและชาวไทยมุสลิม ความเสี่ยงด้านการยศาสตร์และอาการปวดของกล้ามเนื้อในผู้ประกอบอาชีพมาดอวน โดยเฉพาะการลดปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในคนงานอู่ต่อเรือ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ได้ศึกษาต่อเนื่องจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เนื่องจากสารประกอบตะกั่วออกไซด์ หรือเสน ถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการตอกหมันเรือและเป็นส่วนผสมในการยาแนวเรือ สารตะกั่วจึงเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนังหรือการกลืนกิน ส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งโดยภาพรวมคนงานมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ยังพบว่า การปนเปื้อนสารตะกั่วในบ้านพักอาศัยของคนงานสูงกว่าบ้านประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้สมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กเล็กสัมผัสสารตะกั่ว ดังนั้นการจัดกิจกรรมอาชีวสุขศึกษาและใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ปริมาณสารตะกั่วในเลือดและบริเวณที่พักอาศัยลดลง อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกระตุ้นและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ เล่าต่อว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้รับผิดชอบการสอนรายวิชาชุมชนกับสุขภาวะให้แก่นักศึกษาทุกหลักสูตรในสำนักวิชา เน้นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based learning) และบูรณาการกับการให้บริการวิชาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ทำให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานของผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งนำไปสู่การจัดทำโครงการบริการวิชาการส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงานสูงอายุในชุมชน โดยบุคลากรสุขภาพภาคประชาชน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีงบประมาณ 2559-2561 โดยรับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินและแผนบูรณาการประเด็นการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านอาชีวอนามัยสำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของแรงงานสูงอายุโดยบุคลากรสุขภาพภาคประชาชนตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยได้รับรางวัลเชิดชูด้านการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 อีกทั้งยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ครั้งที่ 4 ก้าวสู่การสูงวัยอย่างมีพลัง” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านการสังคมผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active aging) อีกด้วย

การให้บริการดังกล่าวได้บูรณาการกับชุดโครงการวิจัยการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของแรงงานสูงอายุในชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช ปีงบประมาณ 2559-2560 และดำเนินการต่อเนื่องในแผนบูรณาการการเสริมสร้างพฤฒพลังของแรงงานผู้สูงอายุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปีงบประมาณ 2562 ร่วมกับคณาจารย์ภายในสำนักวิชา โดยมีประเด็นครอบคลุมการผลิตภาพด้านสุขภาพและภาวะพฤฒพลังของแรงงานผู้สูงอายุ สภาพการทำงานและความต้องการด้านอาชีวอนามัย สุขาภิบาลที่พักอาศัยและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ รวมทั้งภาวะโภชนาการและการเสริมสร้างสุขภาพของแรงงานผู้สูงอายุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งการวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการควบคู่กับการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายการทำงานในอนาคต ในฐานะนักวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ ยังคงยึดหลักการพัฒนางานวิจัย ควบคู่กับการให้บริการวิชาการและการเรียนการสอน ตามบริบทปัญหาสาธารณสุขชุมชน โดยเฉพาะประเด็นที่เชื่อมโยงกับงานอาชีวอนามัยปฐมภูมิ โดยการประยุกต์ใช้หลักการทางระบาดวิทยามาพัฒนาและแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งในการประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พร้อมมีเป้าหมายในการเขียนหนังสือหรือตำรา และพัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาสาขาสาธารณสุขศาสตร์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการทำงานไม่ได้มุ่งให้งานเป็นเป้าหมายในชีวิตเพียงด้านเดียว แต่จะเน้นถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมทั้งส่วนตนและครอบครัว โดยใช้หลักคิด “ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ตามศักยภาพของตน” สำหรับการทำงานกับเพื่อนร่วมทีม จะมุ่งเน้นให้ทีมทำประโยชน์ของตนเองให้บรรลุเป้าหมายก่อน เมื่อทุกคนทำได้แล้ว ย่อมทำงานที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมได้มากขึ้น

ในตอนท้าย รองศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ ธนะภพ ได้พูดถึงความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานสาธารณสุขชุมชน ทั้งการพัฒนาและผลิตบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรและผลิตบัณฑิตสาธารณสุขชุมชนตามกรอบมาตรฐานสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นหลักสูตรล่าสุดของสำนักวิชา โดยมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561

ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP