Research News

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ โรงเรียนชุมชนใหม่ผลักดันหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “เปลี่ยนห้องเรียน เป็นสนามการเรียนรู้อาชีพของนักเรียนและชุมชน”





มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ สำนักกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “แนวทางการจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 1 โรงเรียนชุมชนใหม่ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตามโครงการจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนชุมชนใหม่” ภายใต้การดำเนินโครงการบริการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน ครูหัวหน้าฝ่ายวิชาการ และคณะครูโรงเรียนชุมชนใหม่ และเครือข่ายหน่วยงานภาคเอกชน รวม 10 คน เข้าร่วมประชุม

คณะทำงานโครงการฯ ซึ่งมี อาจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดการจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นเพื่อเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมได้ระดมสมองให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ พร้อมได้ร่วมกันนำเสนอแนวทางการดำเนินงานโครงการ ซึ่งผลการประชุมมีสาระสำคัญดังนี้

1) เลือกแนวทางการจัดทำหลักสูตรฯ จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาที่ผ่านมา คณะทำงานได้สรุปแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรฯ 2 แนวคิด คือ แนวคิดที่ 1 หลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามกลุ่มอาชีพ และแนวคิดที่ 2 หลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามช่วงชั้น ที่ประชุมได้เลือกแนวทางการจัดทำ “หลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามกลุ่มอาชีพ” เน้นให้นักเรียนมีการเรียนรู้ตามกลุ่มอาชีพ เนื่องจากสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน ตลอดจนสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เพื่อขยายผลการพัฒนาอาชีพของชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอาชีพ

2) กำหนดกรอบแนวคิดของการจัดทำหลักสูตรฯ ได้กำหนดกลุ่มอาชีพแยกการเรียนรู้ตามช่วงชั้น ดังนี้ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 - ป.3) เน้นเรียนรู้อาชีพเกษตรเบื้องต้น เช่น ถั่วงอก, ผักบุ้ง, เห็ด, ไก่ไข่ ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4 - ป.6) เน้นอาชีพเลี้ยงเป็ดเทศ, สุกร, ปลาน้ำจืด และช่วงชั้นที่ 3 (ชั้น ม.1 – ม.3) เน้นเรียนรู้อาชีพการแปรรูปอาหาร ของใช้ จากสัตว์ ผลไม้ พืช แต่ละกลุ่มอาชีพจะมีกลุ่มสหกรณ์โรงเรียนบริหารจัดการการเงินและบัญชี โดยครูจะมีบทบาทเป็นกระบวนกร (Facilitator) ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้

3) แต่งตั้งคณะทำงานผู้รับผิดชอบและผู้ประสานงานหลัก โดยประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้าฝ่าย และครูประจำช่วงชั้น ตัวแทนมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาคเอกชน ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะรวบรวมข้อสรุปจากการประชุมนำไปวิเคราะห์เพื่อ (ร่าง) แผนการสอนกลางหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามกลุ่มอาชีพ เพื่อเสนอต่อผู้บริหาร คณะครูโรงเรียน และผู้บริหารระดับเขตพื้นที่ ในขั้นตอนการดำเนินงานขั้นต่อไป

More details : http://cas.wu.ac.th/
TOP