Research News

ม.วลัยลักษณ์ ร่วม FERCIT จัดอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ พัฒนาคุณภาพการวิจัยตามมาตรฐานสากล

         ม.วลัยลักษณ์ โดย คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ ร่วมกับ ชมรมจริยธรรมในคนแห่งประเทศไทย (Forum for Ethical Review Committee in Thailand : FERCIT ) จัด โครงการฝึกอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เพื่อเข้าใจหลักการพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ และพัฒนาคุณภาพการวิจัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ ม.วลัยลักษณ์และบุคลากรภายนอกเข้าร่วมอบรมจำนวน 170 คน  เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563  ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม

          โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ กล่าวรายงาน อาจารย์ ดร.อโณทัย โภคาธิกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ พ.อ.ผศ.นพ. นิธิพันธ์ สุขสุเมฆ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นวิทยากร

         รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวว่า การอบรมด้านจริยธรรมตามมาตรฐานสากลในครั้งนี้ จะเป็นการรับประกันสิทธิ ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครให้ได้รับการคุ้มครอง สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย จึงต้องการสนับสนุนงานวิจัยที่มีคุณภาพให้มากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ สำหรับงานวิจัยในมนุษย์นั้น มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ จึงได้ออกประกาศเรื่องข้อกำหนดการวิจัยในมนุษย์ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559 กำหนดให้โครงการวิจัยในมนุษย์ทุกโครงการต้องผ่านการรับรองก่อนเริ่มทำการวิจัย   และหัวหน้าโครงการวิจัยต้องผ่านการอบรมด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ก่อนเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับการรับรองจากคณะกรรมการการวิจัยในมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้มีการปฏิบัติต่ออาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัยตามหลักการสากล คือต้องมีการคุ้มครองศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัคร ดังนั้น การอบรมในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่ออาสาสมัครให้เป็นไปตามหลักการสากล 

         ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าความเจริญก้าวหน้าของศาสตร์สาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เกิดจากงานวิจัยและส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ซึ่งการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต้องถือเอาความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครเป็นสิ่งสำคัญมาก่อนความสนใจทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ วัตถุประสงค์ในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เพื่อให้เข้าใจสาเหตุ พยาธิกำเนิดของโรค ศึกษาความชุก อุบัติการณ์ พัฒนาการป้องกัน การวินิจฉัย กระบวนการรักษา การพัฒนายาใหม่ การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยในมนุษย์ หรือที่เกี่ยวข้องกับคน ที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานด้านต่างๆ รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงร่วมกับชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนแห่งประเทศไทย (FERCIT) จัดโครงการการฝึกอบมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ตลอดจนคณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ได้ทราบหลักการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยตามหลักสากล ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ให้ปฏิบัติตามหลักการทำวิจัยที่ดี โดยคำนึงถึงสิทธิ ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัคร สอดคล้องกับคำประกาศเฮลซิงกิ (Declaration of Helsinki)

          การอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ครั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับฟังการบรรยายในหัวข้อ “วิวัฒนาการจริยธรรมวิจัยและหลักจริยธรรมวิจัย”  และ “กระบวนการขอความยินยอม (Informed Consent Process)” โดย อาจารย์ ดร.อโณทัย โภคาธิกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การบรรยายหัวข้อ “บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยและผู้วิจัย” “การวิจัยในกลุ่มเปราะบาง (Vulnerability) การรักษาความลับ (Privacy and Confidentiality) การจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)” และ “การประเมินคุณประโยชน์ต่อความเสี่ยง (Risk and Benefit Assessment)”  โดย พ.อ.ผศ.นพ. นิธิพันธ์ สุขสุเมฆ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

  
 

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดย น.ส.ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร


TOP