Research News

อาจารย์สัตว์แพทย์ มวล.ลงพื้นที่พัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาสุขภาพช้าง

 

เมื่อวันที่ 16-18 กันยายน พ.ศ. 2563 อาจารย์สัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  (มวล.)  ร่วมกับกลุ่มนายสัตวแพทย์ผู้ปฏิบัติงานรักษาพยาบาลช้าง ได้แก่ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง สัตวแพทย์ประจำปางช้าง สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ อาจารย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์สัตว์ป่าของมหาวิทยาลัย และสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ จากคลินิกเอกชน ที่สนใจ ทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 80 คน จัดประชุมเพื่อระดมความคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ แนวทางในการรักษาโรค และการดูแลจัดการสุขภาพช้าง ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ณ ปางช้าง The Elephant Hills จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กิจกรรมที่จัดประกอบด้วย  การสร้างและนำเสนอข้อเสนอแนะด้านการจัดการสุขภาพ ( Health recommendations) เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของช้างที่สำคัญและพบได้บ่อย ได้แก่ 1. ภาวะเสียดท้องในช้าง (Colic) 2. ภาวะอ่อนแรงและล้ม (Asthenia) 3. โรค Elephant endotheliotropic herpesviruses (EEHV) 4.ภาวะคลอดยาก (Dystocia) เตรียมความพร้อมในการเผยแพร่เอกสารข้อเสนอแนะทางสุขภาพ (Health recommendation) ในระดับ proceeding ในการประชุมนานาชาติ และสร้างโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการให้การรักษาช้าง ในโรคละกลุ่มอาการที่สำคัญ โดยจะมีการบูรณาการ หลักการรักษาในสัตว์ที่มีสรีระวิทยาใกล้เคียงและมีวิทยาการก้าวหน้า เช่น ม้า และ กระต่าย มาเป็นแนวทางในการพัฒนา พร้อมเสริมสร้างภาพลักษณ์ในการเป็นวิทยาลัยนานาชาติ และเป็นแหล่งข้อมูลสุขภาพช้างในระดับนานาชาติ ในแวดวงสัตวแพทย์ไทย และกลุ่มสัตวแพทย์ระดับโลกที่รักษาบริบาลช้าง

        ในงานนี้ต้องขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ให้การร่วมมือเป็นอย่างดี และหวังว่ากิจกรรมนี้จะสามารถพัฒนาองค์ความรู้แนวทางการป้องกันและรักษาและสามารถดูแลจัดการสุขภาพช้าง ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น


TOP