News

แนะนำนักวิจัย มวล. : รศ. ดร. วาริน อินทนา เน้นวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตพืชด้วยต้นทุนต่ำและปลอดภัยต่อผู้บริโภค



รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และหัวหน้าหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาศักยภาพการผลิตพืชของประเทศไทย โดยมุ่งเน้น “การผลิตพืชด้วยต้นทุนต่ำและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค” เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพของประเทศ
 
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนนาส่วงวิทยา มัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนวิจิตราพิทยา จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยความที่เป็นลูกชาวนาจึงตั้งใจแน่วแน่ว่า จะศึกษาทางด้านเกษตร โดยมีความเชื่อมั่นเสมอว่า “ในทุกๆวันมนุษย์ทุกคนจะดำรงชีวิตอยู่ได้ต้องพึ่งพาอาหารและปัจจัย 4 อื่นๆ ที่เป็นผลิตผลจากการเกษตรทั้งสิ้น” จึงได้เข้าศึกษาในคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรี โทและเอก โดยได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ในการสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอก (วปก.) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)
 
เมื่อจบการศึกษาได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สอนวิชาทางด้านโรคพืชทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งมุ่งมั่นทำงานวิจัยทางด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับโรคพืชตามสาขาวิชาที่จบการศึกษาและมีความเชี่ยวชาญ โดยได้ยึดตามคำสอนของ รองศาสตราจารย์ ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง อาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พูดเสมอว่า “ความสุขและภูมิใจที่สุดของชีวิตการทำงานของเรา ไม่ใช่การได้รับตำแหน่งสูงแล้วหลบหลีกงานเพื่อให้ตนเองได้อยู่อย่างสบายไปวันๆ แต่เป็นการทุ่มเททำงานจนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานและสังคมต่างหาก”
 
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน จึงได้ทุ่มเทเวลาให้กับงานสอนและงานวิจัย ทั้งในฐานะอาจารย์ทางด้านโรคพืชและหัวหน้าหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน โดยมีงานวิจัยกว่า 18 โครงการ ที่ดำเนินการทั้งที่เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและผู้ร่วมโครงการ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นเงินทุนกว่า 14 ล้านบาท จากหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ชีวินทรีย์แห่งชาติ เป็นต้น ทำให้มีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ทั้งระดับชาติและนานาชาติกว่า 25 เรื่อง อย่างเช่น การวิจัย ประสิทธิภาพของเชื้อจุลินทรีย์และสารสกัดในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวอินทรีย์, รวบรวม คัดเลือกและพัฒนารูปแบบเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในท้องถิ่นเพื่อใช้ในการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์, การควบคุมโรครากและโคนเน่าของส้มโอที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora spp. โดยชีววิธี และการคัดเลือก จำแนกและพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นเพื่อควบคุมโรคกาบใบเน่า การจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่งเงาะทางเรือเพื่อการส่งออก เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเป็นนักวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน ไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเท่านั้น ยังมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรซึ่งเป็นกำลังผลิตทางด้านการเกษตรที่สำคัญของประเทศ โดยได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงเกษตรกร เฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชต้นทุนต่ำและมีความปลอดภัยแก่เกษตรกรและผู้สนใจกว่า 30 ครั้ง มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 1,000 คน เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ประหยัดและสะดวกในการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สะดวกและประหยัดในการขยายเชื้อรา Trichoderma harzianum สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ควบคุมโรคพืช ทั้งยังเผยแพร่วิธีการฟื้นฟูต้นยางพาราหลังน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้ช่วงเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อยางพาราซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจของภาคใต้ทางสื่อสิ่งพิมพ์อีกด้วย
 
รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน เล่าในตอนท้ายว่า สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ตนเอง คือ การได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายรายงานการวิจัยแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการค้นพบเชื้อรา Trichoderma harzianum สายพันธุ์ท้องถิ่นภาคใต้ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืช ได้ดีไม่ด้อยกว่าสายพันธุ์การค้าในปัจจุบัน รวมถึงการได้มีโอกาสร่วมแก้ปัญหาการเกษตรกับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า “งานวิจัยที่ทำนั้นนอกจากจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานในระดับชาติหรือนานาชาติแล้ว ยังต้องสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเกษตรกรไทยและผู้ที่สนใจได้”

ผลงานวิจัยและวิชาการ
 
เรียบเรียงโดย : สมพร อิสรไกรศีล  ส่วนประชาสัมพันธ์

TOP