News

หน่วยวิจัยการบริโภคฯมวล. นำเสนอแผนวิจัยคาร์บอนต่ำลดโลกร้อนที่เกาะสมุย

 

หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ร่วมกับหน่วยประสานงานการท่องเที่ยวเกาะสมุย จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมนำเสนอแผนงานวิจัยพัฒนาการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน ม..วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนเองพร้อมด้วยทีมงานหน่วยวิจัยการบริโภคฯมวล. ประกอบด้วย ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ อาจารย์ฐานัสต์ อานนท์กิจพานิช และอาจารย์ศิริพร สว่างอารีย์รักษ์ ร่วมกับศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกาะสมุย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายใต้แผนงานการวิจัย หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำลดปัญหาภาวะโลกร้อนในแหล่งท่องเที่ยว ทางทะเลและชายหาด กรณีศึกษา เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมีผู้ประกอบการทางด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงสถาบันการศึกษาในเกาะสมุย เข้าร่วมประมาณ 50 คน

กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณสายโพยม สมสุข หัวหน้าศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกาะสมุย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งกล่าวถึงนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเกาะสมุย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดการท่องเที่ยวของเกาะสมุย การสร้างภาพลักษณ์ของเกาะสมุยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ โครงการที่เป็นประโยชน์ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวในเกาะสมุย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เนื่องจากสภาพปัจจุบันที่โลกต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน การเกิดปะการังฟอกขาว รวมถึงการขาดการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ จึงส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งในปัจจุบันมีการนำแนวคิดเกี่ยวกับการวัดปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์หรือที่เรียกว่า รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) และรอยเท้าเชิงนิเวศน์ (Ecological Footprint) มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนั้นโครงการวิจัยที่ 1 จึงมุ่งเน้นในการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศได้ จึงได้เกิดแผนงานวิจัยดังกล่าวขึ้นโดยมีโครงการย่อยอีก 2 โครงการ คือ การวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด” และการวิเคราะห์ศักยภาพด้านต้นทุนการดำเนินงานในการจัดการการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำของผู้ให้บริการทางการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดเพื่อที่จะก่อให้เกิดการวางแผนและจัดการการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียทางการท่องเที่ยวทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

การประชุมในครั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมกำหนดทิศทาง การนำเกาะสมุยไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำการท่องเที่ยวสมุยไปสู่ความยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าแผนงานวิจัยนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของเกาะสมุยแบบยั่งยืนต่อไป

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด
ภาพหน่วยวิจัยการบริโภคฯ


TOP