Location

0 7567 3000

แก้ปัญหาที่ดินมวล.

10 คำถาม การแก้ปัญหาที่ดินในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

1. ความเป็นมาและการใช้พื้นที่ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมถึงแผนแม่บทการใช้ที่ดินในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ตอบ

ปี พ.ศ. 2510 ชาวนครศรีธรรมราชรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2522 ต่อมา ปี พ.ศ. 2527 ประชาชนได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์ให้มีมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติพื้นที่ 13,000 กว่าไร่ สำหรับจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์พาหนะประจำตำบลหัวตะพาน ตำบลไทยบุรี ซึ่งรัฐบาลได้สงวนที่ดินแปลงนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 โดยทางราชการไม่ได้ไปใช้ประโยชน์ใด ๆ จากที่ดินดังกล่าว จึงมีราษฎรจำนวนมากกว่า 900 ครัวเรือน ได้บุกรุกพื้นที่สำหรับจัดตั้งมหาวิทยาลัย

จากการที่กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวข้างต้นได้ แต่เนื่องจากพื้นที่ถูกครอบครองโดยราษฎร และไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ให้แก่มหาวิทยาลัย จึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใด ๆ ได้ จึงเป็นที่มาของการที่มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาในเรื่องนี้

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงได้เสนอเรื่องนี้ไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยดำเนินการแบ่งที่ดินออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) สร้างมหาวิทยาลัยบนพื้นที่ 9,000 กว่าไร่
2) จัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่จะต้องอพยพย้ายออกจากพื้นที่สร้างมหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่า 3,600 ไร่ โดยวิธีการจัดสรรเป็นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยจัดสรรให้ราษฎรที่ยินยอมย้ายออกจากพื้นที่ที่ครอบครองภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครัวเรือนละ 5 ไร่ รวมทั้งจ่ายค่าเยียวยา และค่าชดเชยช่วยเหลือราษฎรเหล่านี้

ภายหลังจากมีการอนุมัติให้ดำเนินการดังกล่าว สรุปได้ว่าที่ดินในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จำนวน 13,000 กว่าไร่ ได้จัดสรรให้แก่ราษฎร 3,600 กว่าไร่ สำหรับโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2534 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจอาณาเขตของพื้นที่ทั้งหมด โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบ เพื่อจัดการออกแบบวางผังแม่บทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แสดงถึงรายละเอียดการกำหนดรายการก่อสร้าง อาทิ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เขตการศึกษา หอพักนักศึกษา สนามกีฬา เขตสมาร์ทฟาร์ม และโบราณสถานที่มีอยู่ดั้งเดิม เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2538 ดำเนินการตามแผนแม่บทการใช้ที่ดินในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในช่วงแรกมีการก่อสร้างอาคาร จำนวน 135 หลัง บนที่ดินที่มีราษฎรครอบครอง ซึ่งราษฎรจำนวนหนึ่งมีการโต้แย้งคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้างมหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดได้มีการเจรจาเพื่อบรรเทาความเดือนร้อน ให้การช่วยเหลือจ่ายค่าชดเชย โดยวิธีการปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทำให้ราษฎรเหล่านั้นยินยอมย้ายออกไป จึงได้ดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

2. ราษฎรที่ยินยอมย้ายออกจากพื้นที่ มีการจ่ายชดเชยทรัพย์สิน ผลอาสิน ช่วยเหลือเยียวยา อย่างไร

ตอบ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการจัดสรรพื้นที่จำนวนกว่า 3,600 ไร่ ให้แก่ราษฎรที่ต้องอพยพย้ายออกไปจากพื้นที่ที่ครอบครองภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครัวเรือนละ 5 ไร่ และจ่ายค่าเยียวยา ค่าชดเชย ช่วยเหลือราษฎรตามระเบียบของทางราชการ โดยเป็นที่ดินที่จัดสรรตามวิธีการปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ภายหลังจากอพยพมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทราบว่ากลุ่มราษฎรเหล่านี้มีความเดือดร้อน โดยเฉพาะปัญหาการสร้างบ้านใหม่ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอสภามหาวิทยาลัย โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรีในการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา ในวงเงินรายละ 200,000 บาท ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จ่ายค่าเยียวยาสำหรับซื้อวัสดุในการก่อสร้างบ้านดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ การช่วยเหลือเยียวยาถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร

 

3. จังหวัดนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินอย่างไร

ตอบ

จากที่มีการบังคับคดี ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ฟ้องบังคับคดี ในปี พ.ศ. 2562 ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดย่อยโดยมีหัวหน้าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน รองอธิการบดีตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ประสานดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อจัดสรรที่ดินแปลงต่าง ๆ ให้ราษฎร จำนวน 22 ราย ที่แพ้คดี ได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน


4. ที่ดินที่จัดสรรจาก ส.ป.ก. ให้แก่ราษฎร มีขนาดพื้นที่เท่าไหร่ สามารถซื้อขายได้หรือไม่

ตอบ

ที่ดินได้รับการจัดสรรจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ครัวเรือนละ 5 ไร่ ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่สามารถส่งต่อให้ลูกหลานตามสายเลือดได้

 

5. มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการดูแลราษฎร และการพัฒนาพื้นที่อย่างไร

ตอบ

กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นเป็นประธาน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ และมีเจ้าหน้าที่ฯ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการด้านการดูแลความเดือดร้อนของราษฎร และการพัฒนาพื้นที่ที่ได้จัดสรรให้แก่ราษฎร 3,600 กว่าไร่

มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการดูแลราษฎร โดยมีการจ่ายเงินค่าเยียวยา ค่าชดเชย ช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎร รวมทั้ง ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยการจัดระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการด้านต่าง ๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา การเกษตร โรงเรียน อนามัย สำนักสงฆ์ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้กำหนดนโยบายสำคัญในการดูแล บรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร แม้ว่าราษฎรเหล่านี้จะแพ้คดีในการต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ก็มีการช่วยเหลือ เยียวยาในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับราษฎรที่ไม่ได้ฟ้องคดี

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ส่วนนิติการดำเนินการประสานงานกับราษฎรที่แพ้คดีทั้งหมดเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือต่อไป

 

6. มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนการดำเนินการในกรณีที่ราษฎรยังไม่ยอมย้ายออกไป อย่างไร

ตอบ

จากการดำเนินการเพื่อให้ราษฎรยินยอมย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อคดีถึงที่สุด ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ราษฎรกลุ่มนี้ไม่ได้ย้ายออกตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการบังคับคดี และศาลบังคับคดีได้แจ้งให้ราษฎรกลุ่มนี้ย้ายออกจากที่ดินของมหาวิทยาลัย โดยได้บันทึกคำยินยอมไว้เป็นหลักฐานไว้ที่ศาล และศาลได้ให้ราษฎรบันทึกว่าจะไม่ขัดขวางการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวของมหาวิทยาลัย แต่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ศาลจึงมอบให้มหาวิทยาลัยประสานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส.ป.ก.นครศรีธรรมราช) เพื่อจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรก่อนที่จะย้ายออกจากที่ดินของมหาวิทยาลัย

เมื่อมหาวิทยาลัยประสานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส.ป.ก.นครศรีธรรมราช) เรื่องการจัดสรรที่ดินในโครงการชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ให้ราษฎรครบถ้วนแล้ว จึงได้รายงานต่อศาล เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และศาลได้สั่งให้ราษฎรกลุ่มนี้ทั้งหมด มาจับสลากเลือกแปลงที่ดินภายใน 30 วัน ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด และให้ย้ายออกจากที่ดินภายใน 90 วัน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการเข้าไปอยู่ในที่ดินที่ ส.ป.ก.จัดสรรให้ โดยจะต้องแจ้งกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส.ป.ก.นครศรีธรรมราช) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดกิจกรรมจับสลากเพื่อเลือกแปลงที่ดินแปลงว่างในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ให้กับราษฎรที่รับผลกระทบ จำนวน 22 ราย จากคำพิพากษาของศาล ซึ่งจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินแปลงใหม่ ในเขตปฏิรูปที่ดินชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา

การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส.ป.ก.นครศรีธรรมราช) ได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์ตามกระบวนการ โดยภายหลังจากมีการจับฉลากแปลงที่ดินในวันดังกล่าว สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส.ป.ก.นครศรีธรรมราช) นัดราษฎรมาสอบสวนสิทธิ์เพื่อให้ทันการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดินระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน หลังจากนั้นจะมีการแจ้งไปยังคณะกรรมการการปฎิรูปที่ดินจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อดำเนินการมอบเอกสาร สปก.4-01 และอนุญาตให้ราษฎรดังกล่าวเข้าไปอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

 

7. มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาทำกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมในการดูแล ทำประโยชน์ให้ชุมชนอย่างไร

ตอบ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของมหาวิทยาลัยที่จะสานสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา โดยความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาสำนักวิชาต่าง ๆ และเครือข่ายท้องถิ่นที่ร่วมมือกันพัฒนางานทั้งมิติการศึกษา มิติสุขภาพ และมิติอาชีพ

มหาวิทยาลัยทำการสำรวจความต้องการของชุมชน ยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลัก โดยมหาวิทยาลัยมีการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร การผลิตแก๊สธรรมชาติจากมูลสุกร การส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยติดเตียง การนำสมุนไพรมาใช้ในการดูแลสุขภาพ การผลิตน้ำมันนวดเพื่อใช้บรรเทาโรคและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ (WU Happy Tree) เป็นต้น

ด้วยภารกิจหลักทางด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ร่วม บูรณาการการสอนเพื่อบริการวิชาการแก่โรงเรียน และชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนชุมชนใหม่ โรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งตั้งอยู่รายรอบมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เป็นโรงเรียนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบการยกระดับการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ร่วมออกแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องโครงสร้างหลักสูตร ร่วมสอนโดยเฉพาะในรายวิชาภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ จีน มาลายู อีกทั้งจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิต วางแผนการทำการเกษตรบนพื้นฐานของ business model และหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว

ผลกระทบที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการบูรณาการการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ทำให้นักเรียนสามารถสอบแข่งขันทักษะคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้อันดับหนึ่งของภาคใต้ และได้เหรียญทองแดงจากการประกวดในระดับประเทศ นักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาสแห่งนี้สามารถสอบแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนระดับจังหวัด เป็นอันดับที่ 9 ผลกระทบเชิงบวกเหล่านี้ทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 40-50 คน เป็น 200 กว่าคน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้และการจัดการเรียนการสอนควบคู่การปฏิบัติในโรงเรียนที่มีมาตรฐานทางการศึกษาสูงขึ้น

 

8. มหาวิทยาลัยมีการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และมีวิธีการแจ้งทราบข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินการของมหาวิทยาลัยอย่างไร

ตอบ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีนโยบายในการสร้างการรับรู้ และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีการประชุมร่วมกับผู้นำชุมชน นอกจากนี้ จัดให้มีการประชุมร่วมกับประชาคมในกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแจ้งทราบถึงพัฒนาและความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

 

9. มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนงบประมาณและประโยชน์ที่จะเอื้อให้แก่ราษฎรที่ยินยอมย้ายออกไปอย่างไร

ตอบ

จากกรณีที่ราษฎรซึ่งเดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้ย้ายไปยังชุมชนสาธิต วลัยลักษณ์พัฒนา ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส.ป.ก.นครศรีธรรมราช) ได้จัดที่ดินที่ทำกินให้รายละ 5 ไร่ ซึ่งปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวมีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่แล้ว และเจ้าของเดิมได้ดำเนินการฟ้องศาล และศาลฎีกาได้ตัดสินให้เจ้าของเดิมเป็นฝ่ายชนะคดี จากปัญหาดังกล่าวสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช (ส.ป.ก.นครศรีธรรมราช) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการจัดหาที่ดินในแปลงชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา และจัดสรรให้แก่ราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อนึ่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา สนับสนุนค่าวัสดุอุปกรณ์ปลูกสร้างบ้านราษฎร ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาของศาล สืบเนื่องจากโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย รายละ 200,000 บาท

 

10. มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ และการพัฒนาชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อย่างไร

ตอบ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา โดยดำเนินการบนพื้นฐานของความต้องการของชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เน้นการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง มีแผนงานในการดูแลพัฒนาประชาชนในชุมชนทุกช่วงวัย วัยเรียน (ส่งเสริมให้เด็ก เก่ง ดี มีสุข) วัยทำงาน (พัฒนาทักษะใหม่ ๆ) และวัยผู้สูงอายุ (คุณภาพชีวิตอย่างมีความสุข) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนงาน/โครงการในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง