Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการและลงนามสัญญารับทุนสนับสนุนศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ

อัพเดท : 24/11/2559

2746



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาแม่ข่าย เครือข่ายบริหารการวิจัยภาคใต้ตอนบน-โครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการและพิธีลงนามสัญญารับทุนสนับสนุนศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเชื่อมโยงงานวิชาการ นวัตกรรมสร้างสรรค์ในสถาบันอุดมศึกษา สู่การประยุกต์ใช้จริงมากขึ้นในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ในฐานะประธานกรรมการเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ และบุคลากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายสุเทพ ภูทิพยวงษา ที่ปรึกษาฝ่ายฟาร์มเลี้ยงกุ้ง บริษัทไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อดำเนินโครงการวิจัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เรื่อง การพัฒนาการเจริญเติบโตของลูกกุ้งขาวด้วยแพลงก์ตอนพืช โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร ดิเรกบุษราคม อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษานำองค์ความรู้จากสถาบันอุดมศึกษามาวิจัยและพัฒนาร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม หรือนำเอาผลงานวิจัย องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้รับจากการทำวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในเชิงแข่งขันของผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพสูง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออกและลดการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์จากต่างประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมให้อาจารย์และนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาทำการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และ SMEs ในการประกอบธุรกิจด้วยการศึกษาวิจัย โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทั้งระบบการผลิตอุตสาหกรรม และระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) อย่างครบวงจร

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะสถาบันแม่ข่ายโครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชน ในเชิงพาณิชย์ ยินดีที่จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างแหล่งทุนต่างๆ กับนักวิจัย และผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงและตรงตามความต้องการของภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้นำองค์ความรู้จากสถาบันอุดมศึกษามาวิจัยและพัฒนาร่วมกัน หรือนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้วไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ ทั้ง 10 ศูนย์ ที่มีการลงนามในวันนี้ ประกอบด้วย
1.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านกุ้ง
2.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้
3.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาการพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
4.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ
5.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวมวลและปาล์มน้ำมัน
6.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร
7.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุ เชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี
8.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
9.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านยาและเครื่องสำอาง
10.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์

"ด้วยหวังว่าผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากทั้ง 10 ศูนย์ จะช่วยสนับสนุนให้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม รวมทั้งสังคมชุมชนของภาคใต้ตอนบน มีโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป" ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวในตอนท้ายก่อนร่วมลงนามในสัญญารับทุน

ข่าว: นางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนประชาสัมพันธ์ ภาพ: ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา