Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ขยะ ยุงลาย ไข้เลือดออก และ CPG : ประเด็นการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนของอำเภอลานสกาจังหวัดนครศรีธรรมราช

อัพเดท : 16/12/2559

2496



หน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก และหน่วยพิษวิทยาและโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอลานสกา จัดระดมสมองและประชุมชี้แจงชุดโครงการวิจัยเรื่อง การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนของอำเภอพื้นที่เสี่ยงสูง : กรณีการกำจัดการขยะ และแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยของอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอลานสกา โดยมี นายสำคัญ อรทัย นายอำเภอลานสกา ให้เกียรติเป็นประธานและร่วมระดมสมอง

รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง อาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ปัญหาโรคไข้เลือดออกระบาดในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ว่า อำเภอลานสกาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีปัญหาโรคไข้เลือดออกเป็นอันดับต้นๆ มีความรุนแรงและมีความเสี่ยงซ้ำซาก ทำให้เกิดความร่วมมือของพื้นที่อำเภอลานสกาและหน่วยวิจัยและบริการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ทั้งอำเภอลานสกา ด้วยชุดโครงการวิจัยเรื่องรูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำ จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการอื่นๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ในช่วงปี 2557 ถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินการทำให้เกิด “ลานสกาโมเดล ซึ่งเป็นโมเดลระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน” ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของคนในพื้นที่ ทั้งยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก

อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคไข้เลือดออกมีปัจจัยเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องมากมายที่จำเป็นต้องดำเนินการตัดการเชื่อมโยงของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไข้เลือดออกของอำเภอลานสกาให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับผลการประชุมระดมสมองของแกนนำพื้นที่และเจ้าหน้าที่ทางสุขภาพของอำเภอลานสกา รวมทั้งการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัจจัยภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่เป็นขยะ ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งพฤติกรรมของคน ระบบหรือนโยบายการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ และการจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออกของเจ้าหน้าที่ในระดับปฐมภูมิที่เป็นจุดต่อเนื่องจากการป้องกันโรคของครัวเรือน โดยจะมีปรากฏการณ์ผู้ป่วยเด็กไข้เลือดออกในพื้นที่อำเภอลานสกาเสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2553 จำนวน 4 ราย และ พ.ศ. 2556 จำนวน 1 คน

รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย เล่าต่อว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา หน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออกและหน่วยพิษวิทยาและโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอลานสกา ได้ร่วมกันระดมสมองและประชุมชี้แจงชุดโครงการวิจัยเรื่อง การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนของอำเภอพื้นที่เสี่ยงสูง : กรณีการกำจัดการขยะ และแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยของอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการควบคุมดัชนีบ่งชี้ลูกน้ำยุงลายในชุมชน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการการพัฒนาและการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของหน่วยบริการปฐมภูมิ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนการวิจัยแห่งชาติกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีงบประมาณ 2560

“ผลสรุปจากการดำเนินการ ทำให้ได้ประเด็นความร่วมมือของทีมวิจัยและตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ในการกำหนดแนวทางการจัดการขยะ ที่นำไปสู่การลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นปัญหาของโรคไข้เลือดออก ตลอดถึงการกำหนดแนวปฏิบัติ (CPG) ในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในระดับปฐมภูมิที่ครอบคลุมทั้งอำเภอ อย่างไรก็ตาม พบว่า การดำเนินการจัดการขยะทุกพื้นที่ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ปัญหาส่วนใหญ่คือ จิตสำนึกในการจำแนกขยะ การลดขยะ การนำขยะมาใช้ประโยชน์ ตลอดถึงการจัดการขยะอย่างครบวงจร” รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง สรุปในตอนท้าย

อนึ่ง การจัดระดมสมองและประชุมชี้แจงชุดโครงการวิจัยเรื่อง การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนของอำเภอพื้นที่เสี่ยงสูง : กรณีการกำจัดการขยะ และแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยของอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ มีตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ของตำบลท่าดี ตำบลลานสกา ตำบลเขาแก้ว ตำบลขุนทะเล ตำบลกำโลนเทศบาลตำบลขุนทะเล เทศบาลตำบลลานสกา โรงพยาบาลลานสกา และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอลานสกา เข้าร่วมรวม 30 คน

ประมวลภาพ

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง