Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อุทยานวิทย์ฯ ภาคใต้ จัดสัมมนา “OTOP Plus ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยวิชาการและนวัตกรรม”

อัพเดท : 22/12/2559

1623

โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดสัมมนา “OTOP Plus ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยวิชาการและนวัตกรรม” เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ณ Innovation Gallery อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยม กำลังดี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ กล่าวรายงาน และคุณนิตยา นิราศรพ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดงานสัมมนาฯ



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยม กำลังดี กล่าวว่า คณะทำงานเชิงประเด็น C-UBI เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน ได้รับงบประมาณสนับสนุนภายใต้ “โครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ OTOP เครือข่ายภาคใต้ตอนบน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ OTOP โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาทักษะเชิงลึกและภูมิปัญญาให้กับผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ทายาทผู้ประกอบการโครงการ OTOP ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมประชาชนและผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นได้เรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ OTOP

โครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ OTOP เครือข่ายภาคใต้ตอนบน ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การจัดอบรมผู้ประกอบการ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มอาหาร กลุ่มเครื่องสำอางค์และสมุนไพร และกลุ่มหัตถกรรม จำนวน 107 ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้รับความรู้แนวคิดเบื้องต้น เช่น การประกอบธุรกิจ การตลาด การผลิต การจัดการและบริหารทรัพยการบุคคล เป็นต้น จากนั้นคณะกรรมการได้คัดเลือกเหลือ 15 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทโดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี หรืองานวิจัย รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาสถานที่ผลิตหรือกระบวนการ รวมทั้งเครื่องหมายการค้าและบรรจุภัณฑ์



คุณนิตยา นิราศรพ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษา 4 สถาบัน ของภาคใต้ตอนบน สามารถช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ได้ โดยการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุบรรจุภัณฑ์ ซึ่งโครงการ OTOP Plus ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักศึกษา และอาจารย์ จึงขอให้ทุกฝ่ายรักษาเครือข่ายต่างๆ ที่มีเพื่อจะได้ต่อยอดการพัฒนา สิ่งที่ผู้ประกอบการจะช่วยหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจได้คือ การประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และอยากเห็นผลิตภัณฑ์ OTOP ได้รับการยอมรับและมียอดขายเพิ่มขึ้น



จากนั้น เป็นการเสวนา “การดำเนินงานกิจกรรมโครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ OTOP เครือข่ายภาคใต้ตอนบน ปี 2559” โดย อาจารย์ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง สำนักวิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คุณจตุพล ศรีดำ หัวหน้าพัฒนาชุมชนอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณณัฐธิญาณ์ ธัญญลักษณ์ สวนลุงสงค์สุราษฏร์ และคุณพิทยา ภาษี เจลาโต้ไทม์ไอศกรีม หลังจากเสร็จจากการเสวนา ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เดินชมผลิตภัณฑ์ต่างๆ พร้อมพูดคุยกับผู้ประกอบการ