Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ทีมแพทย์-เภสัช-พยาบาล ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่กรุงชิง ดูแลสุขภาพผู้ประสบอุทกภัย

อัพเดท : 11/01/2560

3085



ทีมอาจารย์แพทย์ อาจารย์และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ และพยาบาลจาก ม.วลัยลักษณ์ เดินทางลงพื้นที่ ต.กรุงชิง ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบอุทกภัย ด้านคณบดีแพทย์ฯ แนะนำประชาชนระวังโรคที่มากับน้ำท่วม

อาจารย์ ดร.นายแพทย์ปรัชญะพันธุ์ เพชรช่วย รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับโรงพยาบาลนบพิตำได้ส่งอาจารย์แพทย์ และนักศึกษาและอาจารย์สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ รวมกว่า 30 คน ลงพื้นที่หมู่ 7 บ้านทับน้ำเต้า ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพ พร้อมจ่ายยา และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย

พื้นที่หมู่ 7 บ้านทับน้ำเต้า มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 250 ครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยเป็นอย่างมาก เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งการเดินทางไปในพื้นที่ของทีมแพทย์ต้องใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 10 กม.กว่าจะถึงหมู่บ้าน ทั้งนี้พบว่าประชาชนที่มาใช้บริการส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคผื่นแพ้ คันตามผิวหนัง เป็นไข้หวัด และเป็นแผลจากการโดนของบาด พวกตะปู กระเบื้อง ซึ่งยาที่แจกจ่ายส่วนใหญ่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาแก้น้ำกัดเท้า ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูกทั่วไป

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ดร.นายแพทย์ปรัชญะพันธุ์ ยังได้กล่าวแนะนำประชาชนที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ว่า ขอให้ระวังโรคที่จะมากับน้ำท่วมซึ่งจะมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1) กลุ่มโรคติดเชื้อ ที่พบบ่อยได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า ผู้ประสบภัยควรระมัดระวังและดูแลคนใกล้ชิด เมื่อต้องเดินย่ำน้ำ เช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังเปียกน้ำ และจำเป็นต้องใช้ยาหากมีอาการคัน เพื่อแก้อาการของโรค ส่วนโรคท้องร่วงและติดเชื้อทางเดินอาหารอาจมาจากการดื่มน้ำหรือทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชิ้อโรค

ที่สำคัญอีกโรคหนึ่งคือ โรคฉี่หนูซึ่งสามารถปนเปื้อนเชื้อโรคมากับน้ำที่ท่วมและเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจพบมีตัวเหลือง ตาเหลืองได้ สำหรับผู้ที่มีไข้สูงมาก ปฐมพยาบาลหรือทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มที่มากับสัตว์ แมลงกัดต่อย ได้แก่ ตะขาบ แมงป่องหรือสัตว์มีพิษอื่นๆ เพราะสัตว์ต่างๆ อาจหนีน้ำท่วมมาอาศัยบนบ้านของเรา ขอให้ระมัดระวัง และเก็บกวาดขยะหรือสิ่งของภายในบ้านด้วย

นอกจากนี้ โรคในกลุ่มที่ 3 ได้แก่ กลุ่มโรคเครียด สุขภาพจิตก็เป็นเรื่องสำคัญ ในระหว่างที่เกิดภาวะอุทกภัย หลายๆ ท่านอด ไม่ได้ที่จะกังวลไม่ว่าสภาวะเกิดซ้ำ การขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงภาวะเครียดอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประสบอุทุกภัยจึงจำเป็นต้องยอมรับสภาพ อย่ากังวล น้ำมาได้น้ำก็ไปได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะช่วยคลายกังวลลง หากเครียดมากก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพจิตของตน


ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ขอขอบคุณภาพจาก สำนักวิชาแพทยศาสตร์และสำนักวิชาเภสัชศาสตร์