Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ พบเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ใหม่ NST-009 เตรียมนำไปช่วยเหลือเกษตรกร ฟื้นฟูพืชหลังน้ำท่วม

อัพเดท : 14/02/2560

8178



นักวิชาการ ม. วลัยลักษณ์ พบเชื้อราไตรโคเดอร์มา สายพันธุ์ NST-009 แยกจากรากเฟิร์นมหาสดำบนเทือกเขาหลวง มีประสิทธิภาพสูง เตรียมนำลงช่วยเหลือเกษตรกรฟื้นฟูแปลงพืชที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัยพืชเขตร้อน ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ตนได้ค้นพบเชื้อราไตรโคเดอร์สายพันธุ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ Trichoderma harzianum สายพันธุ์ NST-009 ซึ่งเชื้อราสายพันธุ์นี้แยกได้จากรากเฟิร์นมหาสดำบนเทือกเขาหลวง และผ่านการคัดเลือกจากกว่า 2,000 สายพันธุ์ทั่วภาคใต้ มีประสิทธิภาพสูงมากในการควบคุมโรคพืช โดยมีกลไกทำลายเชื้อราโรคพืชด้วยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร สร้างสารปฏิชีวนะได้หลายชนิด ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และชักนำให้ต้นพืชสร้างภูมิคุ้มกันได้

นอกจากนี้ยังมีข้อเด่นคือสามารถอาศัยในดินที่สะสมสารเคมีและมีความชื้นสูงได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ โดยจากการวิจัยมากว่า 7 ปี หน่วยวิจัยฯ พบว่า เชื้อราสายพันธุ์นี้ควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด เช่น โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน โรครากเน่าโคนเน่าพืชตระกูลส้ม โรคหน้ายางตายนึ่งและโรครากขาวยางพารา โรคเน่าระดับดินของพืชผัก โรคแอนแทรคโนสของพริก และโรคสำคัญของข้าว เป็นต้น ดังนั้นการเผยแพร่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์นี้สู่เกษตรกร คงจะช่วยป้องกันแก้ไขความเสียหายของต้นพืชหลังภาวะน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี

“จากภาวะอุทกภัย 2 ครั้งใหญ่ในภาคใต้ ทำให้พื้นที่การเกษตรใน จ.นครศรีธรรมราชเกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักและนาข้าว ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จึงตระหนักและเห็นถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร หน่วยวิจัยพืชเขตร้อนได้ลงพื้นที่วิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยจากการลงพื้นที่พบว่า ภาวะน้ำท่วมเป็นเวลานานทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ต้นโทรมและยืนต้นตายในหลายพื้นที่ นอกจากนี้อาจเกิดการระบาดของเชื้อโรคพืชซ้ำเติมต้นพืชที่กำลังอ่อนแอ จะทำให้พืชเกิดโรคและตายเร็วยิ่งขึ้น จึงควรเร่งป้องกันแก้ไขด่วน โดยหน่วยวิจัยฯ ได้ทำการผลิตเชื้อราดังกล่าวทั้งเชื้อราสดและหัวเชื้อรา เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้เกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือด้านเชื้อราไตรเคอร์มาชนิดสด สามารถติดต่อที่หน่วยวิจัยพืชเขตร้อน โทร. 075-672377 ในวันเวลาราชการ” รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน กล่าว

ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดยหน่วยวิจัยพืชเขตร้อน ม.วลัยลักษณ์