Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มวล. เปิดบ้านพบภาคเอกชนเนื่องในงานวลัยลักษณ์เอ็กซ์โป2017

29/03/2560

1493



เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมอุทยานฯสานสัมพันธ์ ปี 2560 : เปิดบ้านพบภาคเอกชน เพื่อเป็นเวทีในการพบปะพูดคุยกับภาคเอกชน โดยมีผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ บุคลากร คณาจารย์ นักวิจัย เข้าร่วมประมาณ 150 คน ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฎิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม พร้อมบรรยายในหัวข้อ นโยบายมหาวิทยาลัยและการสร้างธุรกิจจากงานวิจัยในยุคThailand 4.0 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยม กำลังดี ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวรายงาน



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดกิจกรรมอุทยานฯ สานสัมพันธ์ ปี 2560 : เปิดบ้านพบภาคเอกชน ในช่วงงานวลัยลักษณ์เอ็กซ์โป 2017 เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ครบปีที่ 25 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย (29 มีนาคม 2560) และเป็นเวทีในการพบปะพูดคุยกับภาคเอกชน ซึ่ง ม.วลัยลักษณ์ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ใหม่ของการวิจัย การนำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและสังคม ส่งเสริมให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้นำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ในภาคธุรกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ทำหน้าที่ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ด้วยกระบวนการบ่มเพาะทางธุรกิจเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนดูแลการส่งเสริมคุ้มครองการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา กระบวนการพัฒนาธุรกิจอย่างถูกต้องด้วย

ในส่วนของนโยบายของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลนั้น มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในเรื่องการวิจัยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรม สร้างมูลค่าให้กับประเทศและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชน ซึ่งมหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อาทิ การศึกษาวิจัยน้ำยางพาราไร้สีไร้กลิ่นเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตสีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปืนยางฝึกนักเรียนตำรวจ การคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคตายด่วนของกุ้งขาว และยังมีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์นำไปสู่การแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน

“มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการวิจัยไปสู่นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อร่วมสร้างรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในท้องถิ่น และสามารถแข่งขันในระดับสากลต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวย้ำ



ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยม กำลังดี กล่าวว่า ในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ได้รับการอนุเคราะห์ความร่วมมือจากผู้บริหาร ส่วนราชการ หน่วยงานพันธมิตร หัวหน้าหน่วยวิจัย อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการร่วมกันผลักดันและร่วมดำเนินงานของอุทยานฯ ส่งผลให้เกิดผลงานของอุทยานฯ ในเชิงประจักษ์หลายโครงการด้วยกัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณในความร่วมมือในปีที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน จึงเห็นควรจัดกิจกรรมอุทยานฯสานสัมพันธ์ปี 2560 : เปิดบ้านพบภาคเอกชน และร่วมรับฟังการเสวนา เรื่อง “นโยบายมหาวิทยาลัยและการสร้างธุรกิจจากงานวิจัยในยุค Thailand 4.0” เพื่อให้เกิดการพบปะ พูดคุย ระหว่างหน่วยงานพันธมิตร นักวิจัย อาจารย์ ผู้ประกอบการ นำไปสู่การร่วมมือกันในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม NIA’s Road Show to Regional Science Park การเข้าถึงการบริการ รูปแบบการสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค โดย ผู้แทนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) เพื่อแนะนำบริการ รูปแบบการสนับสนุนจากส่วนกลางอีกด้วย

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์