Location

0 7567 3000

ข่าววลัยลักษณ์-เอ็กซ์โป

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ บรรยายพิเศษ เรื่อง “หลักการทรงงานและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

อัพเดท : 31/03/2560

1130

ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม (ฟาร์มมหาวิทยาลัย) จัดบรรยายพิเศษ หัวข้อเรื่อง “หลักการทรงงานและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์สาธิตและพัฒนานวัตกรรมเกษตรเทิดพระเกียรติ ร.9 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ เริ่มจากคำถามที่ว่า หากถามคนไทยเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 รู้จักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ถ้าถามว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ประมาณร้อยละ 90 มักตอบผิดและไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่าคืออะไร เมื่อมองในเรื่องของอายุ การศึกษา และเพศ จะไม่มีผลต่อความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยพระองค์ทรงตรัสเรื่องนี้ในพิธีพระราชปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงยุคคอมมิวนิสต์ และเกิดวิกฤตสงครามการเมือง มีการประท้วง พระองค์ท่านรู้สึกเป็นห่วงประชาชนของพระองค์ รวมถึงประเทศชาติ จึงทรงคิดปรัชญาเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ทรงมีแนวคิดหลักที่ว่า การพึ่งตนเอง การมีความเพียร การศึกษาข้อมูล อย่างเป็นระบบ ทำแล้วทำการเผยแพร่และอย่ายึดติดตำรา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย กล่าวว่า เกษตรทฤษฎีใหม่ที่ในหลวงทรงคิดขึ้น พระองค์ทรงคิดถึงประชาชนเป็นหลัก พระองค์ทรงเริ่มต้นจากการคำนวณพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยทั้งหมดหารด้วยจำนวนเกษตรกรและหาค่าเฉลี่ย จึงทำให้ได้สูตรที่ว่า 30 – 30 – 30 – 10 โดยพระองค์ทรงแบ่งทั้ง 4 ส่วน ดังนี้ พื้นที่ส่วนแรก พื้นที่กักเก็บน้ำจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ส่วนที่สอง จะเป็นการปลูกข้าวจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ส่วนที่สาม จะเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พื้นที่ส่วนที่สี่ ใช้เพื่อการสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาทิ บ้านเรือน โรงเลี้ยงสัตว์ จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ได้นำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางให้กับเกษตรกร ที่ว่า “คนเราถ้าพอใจความต้องการ ก็จะมีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศ มีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความที่คิดว่า ทำอะไรต้องมึความพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็เป็นสุข” ข่าวโดย กมลทิพย์ บูลภิบาล ภาพโดย จิตติมา วงศ์น้อย พิมพ์ชณก เลขอาวุธ นักศึกษาช่วยงาน ส่วนประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์