Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานเนื่องในโอกาสวันสถาปนาครบปีที่ 25

30/03/2560

2490

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่ 25 โดยในช่วงเช้า เวลา 06.30 น. คณะผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และแขกผู้มีเกียรติร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อความเป็นสิริมงคล



โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานในพิธีทำบุญทางศาสนาเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่25 (29 มีนาคม 2560) โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติในจังหวัดนครศรีธรรมราชและประชาชนรายรอบมหาวิทยาลัยจำนวนมากร่วมพิธี ณ WU Square อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์



จากนั้น เวลา 08.30 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน และศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวเปิด เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 25 และได้รับเกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษาไทยสู่ระดับสากล” โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีแขกผู้มีเกียรติในจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอท่าศาลาและพื้นที่ใกล้เคียง คณาจารย์ บุคลกร และนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 25 ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า 25 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้สร้างความสำเร็จหลายประการตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล และยืนยันว่าในอนาคตจะดำเนินการให้บรรลุตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเปิดการเรียนการสอนใน 2 สำนักวิชา ซึ่งอยู่ในกลุ่ม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและเป็นจุดแข็งที่สุดของเรา ซึ่งตอนนี้มีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สหเวชศาสตร์และสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์และต่อไปจะมีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาสัตวแพทยศาสตร์ สิ่งที่ประกันความสำเร็จของสำนักวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเหล่านี้ จะเห็นได้จากทุกปีบัณฑิตในสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้100 เปอร์เซ็นต์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์100 เปอร์เซ็นต์ เภสัชศาสตร์ 97 เปอร์เซ็นต์ และพยาบาล 91 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและบัณฑิตสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพผ่าน 90% ขึ้นไป ถือว่ามหาวิทยาลัยนั้นอยู่ในกลุ่มเก่งที่สุดของประเทศ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ และความสำเร็จของเรา

นอกจากนี้วารสารนานาชาติของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขณะนี้ถือได้ว่าเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เนื่องจากมีอัตราการตอบรับให้ตีพิมพ์จากนักวิจัยทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรามีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งทุกสำนักมีอาจารย์ที่มีคุณภาพ ในสาขาด้านสังคมศาสตร์ เรามีสำนักวิชาการจัดการ ศิลปศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และสำนักวิชานิติศาสตร์ และในอนาคตจะมีวิทยาลัยนานาชาติอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประสบการณ์ของการตั้งมหาวิทยาลัย มีความตั้งใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยในอุดมคติในทุกด้าน เป็นมหาวิทยาลัยที่เลือกเอาประสบการณ์ส่วนดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ มารวมไว้ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัย เป็น “ตักศิลา” ของภาคใต้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศไปสู่สากล 25 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่วันนั้นเราเป็นมหาวิทยาลัยที่ทันสมัยที่สุด การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งที่ 2 ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2535 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานชื่อ“วลัยลักษณ์” อันเป็นสร้อยพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ท่านนั้น มีไม่กี่มหาวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานชื่อ ซึ่งถือเป็นมิ่งมงคลอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้วางระบบการศึกษาและการบริหารที่ทันสมัย สภามีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการที่ทำได้เอง ทำให้มีการตั้งชื่อหน่วยงานในลักษณะที่เหมาะ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่มีคณะวิชาแต่เราเรียกของเราว่า “สำนักวิชา” เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วโลกถือเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ได้ทำเพื่อให้แตกต่างจากคนอื่น แต่ทำเพราะต้องการให้เป็นเรื่องที่เหมาะสมในการที่จะพัฒนาในอนาคตต่อไป เราได้ตั้งระบบที่ต้องการจะให้ทันโลก ทันสมัย เป็นสากลนับตั้งแต่ก่อตั้ง เน้นการเป็นพลเมือง พลโลก การผลิตบัณฑิตให้มีลักษณะตาม “ศึกษิต” 6 ประการ แล้วถ้าใครทำได้ที่นี่ก็จะมีรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ให้แก่นักศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะต่อไป



จากนั้นเวลา 13.30 น. มีพิธีมอบ โล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้มีอุปการคุณที่ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง และ มอบโล่เชิดชูเกียรติบุคลากรดีเด่น ตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ได้แก่ บุคลากรดีเด่นด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม รางวัลผลงานดีเด่นด้านการวิจัย โครงการดีเด่นด้านการบริการวิชาการ และ รางวัลขวัญใจมหาชนคนวลัยลักษณ์ พร้อมมอบ โล่แก่พนักงานที่ทำงานครบ 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี เพื่อชื่นชมและเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน เนื่องในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่ 25



และช่วงเย็นเวลา 15.30 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี เป็นประธานในการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างสื่อมวลชน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ประชาคมจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี คณะผู้บริหาร สื่อมวลชน คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วม ณ อาคารพละศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ข่าว/ภาพ โดย นางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร