Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ปาฐกถาพิเศษ “การศึกษาไทยสู่ระดับสากล”

อัพเดท : 31/03/2560

2552



ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษาไทยสู่ระดับสากล” เนื่องในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ครบ 25 ปี วันที่ 29 มีนาคม 2560 ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า นครศรีธรรมราชเป็นตักศิลาของภาคใต้ เป็นที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้กับลูกหลาน เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติและสร้างสรรค์ประชาคมโลก ชาวนครศรีธรรมราชให้ความสำคัญกับการศึกษาและฝันที่จะมีสถาบันอุดมศึกษาภายในจังหวัด เพื่อสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันทางการศึกษา จึงได้มี “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

การศึกษาที่เตรียมคนเป็น “ศึกษิต” ที่เป็นพลเมืองของโลกกว่า 7.4 พันล้านคน ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ศาสนา และการปกครอง การศึกษาพร้อมสอนให้คนไปอยู่ในโลกที่แตกต่างกันได้ ทั้งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรมและภาษา แต่ทว่าการศึกษาไทยมีเพียงมิติเดียว อาจารย์สอนเหมือนกัน ฟังบรรยายแบบเดียวกัน เวลาสอบก็ท่องมาสอบเหมือนที่อาจารย์สอน ขณะที่ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษา 21-28% ทุกปี เป็นเงินงบประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท อันดับที่ 1 ของอาเซียน แต่เมื่อวัดความสามารถ ผลการสอบ PISA และทุกดัชนีการวัดอื่นๆ ประเทศไทยอยู่ลำดับหลังสุด

ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะลงทุนด้านการศึกษามาก แต่ผลผลิตที่ได้น้อย เพราะวิธีการเรียนการสอนของไทยไม่สอดคล้องกับสากลโลก ตัวอย่างเช่น เรื่องเรือไททานิค นักเรียนของสิงคโปร์เรียนรู้แบบบูรณาการใน 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ใช้สูตรคณิตศาสตร์อะไรในการสร้างเรือ วิทยาศาสตร์ ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงเกิดขึ้นในช่วงฤดูนั้น สังคม การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของผู้โดยสารที่อยู่บนเรือ และภาษาอังกฤษ ตรวจสอบการใช้ภาษา โดยให้นำความรู้ทั้ง 4 วิชา นั้น มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ผู้สอนแต่ละวิชาก็ตรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาของตน ขณะที่โรงเรียนสาธิตในประเทศไทยกลับตั้งคำถามที่แตกต่าง เช่น เรือไททานิคล่มที่มหาสมุทรอะไร ดังนั้น การศึกษาไทยต้องสอนนักเรียนให้หัดคิด วิเคราะห์ หาคำตอบด้วยตัวเอง

ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีแผนเปิดสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์และสัตวแพทยศาสตร์ ขอให้วางแผนดำเนินการให้เป็นสากลตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อสร้างโอกาสในการไปประกอบอาชีพทั้งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN) และประเทศต่างๆ ในโลกได้ ที่สำคัญจะต้องมีทัศนคติที่ว่า พร้อมที่จะไปทำงานในโลกที่มีความหลากหลายได้

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เห็นว่า ไม่มีเศรษฐกิจไหนจะเติบโตภายในประเทศได้ ต้องออกไปแข่งขันนอกประเทศ เพื่อเอาผลกำไรกลับประเทศ ประเทศไทยต้องออกไปปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากนอกประเทศ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไทย แต่ “คนไทยยังอยู่กับอดีต” ที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ แล้วใช้ประวัติศาสตร์มาเป็นข้อแก้ตัว ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะไม่สามารถสู้กับคนอื่นได้ คนไทยภูมิใจในประวิติศาสตร์ได้ แต่อย่าอยู่ในประวัติศาสตร์ ขณะที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมา 60 ปี 12 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 6,000 เหรียญ/คน/ปี ขณะที่สิงคโปร์ 54,000 เหรียญ/คน/ปี เนื่องจากประเทศไทยขาดงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไม่มีทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ยา เครื่องมือ/อุปกรณ์ต่างๆ ดังนั้น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต้องลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการค้นคว้า วิจัย ผลิตเทคโนโลยีและนักประดิษฐ์ รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา

ดร.สุรินทร์ บอกต่อว่า การยอมรับว่าสังคมไทยมีหลายมิติ มีความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ความหลากหลายคือทรัพยากรทางสังคมที่เราใช้ประโยชน์ได้ สร้างความสามารถทางการแข่งขัน และความพร้อมเพื่อไปร่วมงานกับคนอื่นได้ แต่คนไม่ค่อยยอมรับ เช่น ภาษามลายูใน ASEAN ชุมชนควรเป็นห้องแล็บทางภาษา ครูภาษาคือทรัพยากรทางวัฒนธรรม สร้างเอกลักษณ์ ความเป็นสากลให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยใช้บริบทที่อยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย

พร้อมกันนี้ ดร.สุรินทร์ ยังได้เรียกร้องมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และอำเภอต่างๆ น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ประโยชน์ สร้างนครศรีธรรมราชให้มีเอกลักษณ์ และสร้างมหาวิทยาลัยให้มีความโดดเด่นด้วยพันธกิจของมหาวิทยาลัยและมีอัตลักษณ์ของตัวเอง เพื่อให้เป็นเลิศในท้องถิ่นและประชาคมโลก

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวในตอนท้ายว่า 25 ปี ของการต่อสู้ การเจริญเติบโต การมีส่วนร่วมของประชาชน และการมีวิสัยทัศน์ของผู้นำ สร้างความ “มุ่งมั่น ผูกพัน ทำอย่างมืออาชีพ” ให้เกิดขึ้นกับบัณฑิต ม.วลัยลักษณ์ การปลูกฝังให้นักศึกษาอย่ายอมแพ้ อย่าเลือกทางลัด ต้องฝึกให้นักศึกษามีความอดทน ทุ่มเท สร้างความพร้อมให้แข็งแกร่ง ทำงานให้เต็มที่ 100% ของความสามารถของตัวเอง เพื่อไปสู่จุดสุดยอดของวิชาชีพตนเอง และในอีก 25 ปี ข้างหน้า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต้องมุ่งมั่นไปสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม