Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.จัดวลัยลักษณ์วิจัยครั้งที่ 9 “Research for Competitiveness and Contextual Innovation”นักวิชาการจากทั่วประเทศร่วมนำเสนองานวิจัยกว่า 200 บทความ

อัพเดท : 31/03/2560

1965



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนรากฐาน สกอ.ภาคใต้ตอนบน และเครือข่ายการวิจัยภูมิภาค: ภาคใต้ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 9 เนื่องในโอกาสครบปีที่ 25 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวข้อ Research for Competitiveness and Contextual Innovation ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม โดยมีนักวิชาการส่งผลงานทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์เข้าร่วมนำเสนอกว่า 200 บทความ จาก 62 หน่วยงานทั่วประเทศ

โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการพร้อมกล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ (Research University)แห่งคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย ทั้งการวิจัยพื้นฐานเพื่อการเรียนการสอน และการวิจัยขั้นสูงเพื่อประโยชน์แก่สังคมและการพัฒนาประเทศตั้งแต่ระดับชุมชน ผู้ประกอบการขนาดย่อมไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0

อย่างไรก็ตามในแต่ละปีมหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์กว่า 100 ผลงาน และวารสารวิจัยของวลัยลักษณ์ (Walailak Journal of Science and Technology ) เป็นวารสารวิจัยที่ติดอันดับ 1 วารสารวิจัยของประเทศ และควอไทล์ที่2 ของวารสารวิจัยนานาชาติ ตอกย้ำในคุณภาพและความน่าเชื่อถือของ WJST ในเวทีวิจัยนานาชาติด้วย



ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) บรรยายเปิดการประชุมในหัวข้อ “แนวทางการสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อส.สธ.)”และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร บรรยายพิเศษหัวข้อ “Innovation by Design Thinking” นอกจากนี้ยังมีการบรรยายจากบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น คือ รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน บรรยายพิเศษ หัวข้อ “นวัตกรรมน้ำในหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์”

ส่วนภาคการนำเสนอผลงาน แบ่งเป็น 7 กลุ่ม และ 2 หัวข้อพิเศษ คือ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มสารสนเทศศาสตร์ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร กลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์ การออกแบบและศิลปกรรม กลุ่มสหเวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกลุ่มพยาบาลศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ หัวข้อพิเศษ: เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หัวข้อพิเศษ : ภาษาและการใช้ภาษา มีผู้ส่งผลงานแบบบรรยายและโปสเตอร์เข้าร่วมกว่า 200 บทความ จาก 62 หน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการนำเสนอผลความก้าวหน้าโรงการวิจัยของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ภาคนิทรรศการ และการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันเนื่องมาจากงานวิจัยด้วย

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดยนักศึกษาช่วยงานฝ่ายประชาสัมพันธ์