Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา ด้วงอินทร์ : บูรณาการงานวิจัยและการเรียนการสอนแบบ Active Learning

04/04/2560

7079

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา ด้วงอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาการจัดการสารสนเทศ หลักสูตรการจัดการสารสนเทศดิจิทัล สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความสนใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานสารสนเทศต่างๆ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม เช่น ห้องสมุดดิจิทัล (digital libraries) พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล (digital museums) คลังสารสนเทศสถาบัน (institutional repositories) และจดหมายเหตุดิจิทัล (digital archives) โดยมุ่งเน้นการออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (user interface design) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ให้มากที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศึกษาระดับปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังสำเร็จการศึกษาได้มาเป็นอาจารย์สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จากนั้น ได้รับทุนรัฐบาล (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ประเภทพัฒนาบุคลากรของรัฐ ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่ประเทศสหราชอาณาจักร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ที่คณะ Computer and Information Sciences, University of Strathclyde ประเทศสหราชอาณาจักร อาจารย์ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล โดยจัดเก็บทรัพยากรทางด้านประวัติศาสตร์ของประเทศสหราชอาณาจักร ในยุคพระนางวิคตอเรีย (Victoria Era) โดยมี Prof. Ian Ruthven ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้าน Information seeking retrieval เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา Prof. Ian เป็นอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านการบริหารจัดการเวลาและการทำงานอย่างเป็นระบบ อาจารย์จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาคิดและกล้าแสดงออกได้อย่างเป็นอิสระ อีกทั้งยังฝึกให้นักศึกษาเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยอาจารย์จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ที่คอยช่วยสนับสนุนในการทำวิจัยและแนะแนวทางให้ในกรณีที่นักศึกษาติดขัดและไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้จริงๆ

ด้วยความที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา ชอบศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงได้เข้าอบรมในหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 หลักสูตร และได้เข้าเรียนในชั้นเรียนในรายวิชาที่สอนโดยอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น Prof. Ian Ruthven อาจารย์ที่ปรึกษา และ Prof. Gobinda Chowdhury ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านห้องสมุดดิจิทัล เป็นต้น ทำให้อาจารย์ได้เรียนรู้กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีทั้งการอภิปรายกลุ่ม การเล่นเกม การทำกิจกรรมกลุ่มต่างๆ และการนำเสนอในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนได้กระตุ้นการเรียนรู้ มีความตื่นตัวตลอดเวลา ได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ และสนุกสนานไปกับการเรียน

เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการอบรม Master Trainer (รุ่นสุดท้าย) อย่างเข้มข้นจำนวน 5 วัน ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2health) โดยการแนะนำของอาจารย์ ดร.พุทธิพร ธนธรรมเมธี อาจารย์ประจำสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน เอกวรางกูร สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งจากการเข้าร่วมทำกิจกรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบุคลากรที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้อาจารย์ได้เปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติและได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างมากขึ้น

จากจุดนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา อยากจะพัฒนาการเรียนการสอนที่เป็น Active learning ในรายวิชาต่างๆ ในเวลาต่อมา เช่น Experiential Learning (EL), Problem-Based Learning (RBL) และ Research-Based Learning (RBL) เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของ RBL นอกจากจะให้นักศึกษาศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระที่เรียนแล้ว นักศึกษายังได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยในงานวิจัยของอาจารย์ เช่น เป็นผู้ทำการทดลอง (participant) ในการประเมินส่วนติดต่อกับผู้ใช้ของเว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช และประเมินส่วนติดต่อกับผู้ใช้ของดิจิทัลคอลเลกชันสารสนเทศ หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนักศึกษาได้รับความรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำโครงการวิจัยในอนาคต

นอกจากการพัฒนาการสอนให้มีความน่าสนใจและกระตุ้นการเรียนรู้ของนักศึกษาแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา ยังมีบทความวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและนำเสนอในที่ประชุมวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยผลงานวิจัย เรื่อง“The usability testing on initial user interface design of Nakhon Si Thammarat National Museum Website” ได้นำเสนอแบบปากเปล่าในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on Cultural Technology (ICCT 2017) ระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยบทความนี้ได้รับรางวัล The excellent paper award จากที่ประชุมนี้ และได้รับการคัดเลือกเป็น Selected Paper กำลังรอตีพิมพ์ใน Information Journal (SCOPUS Index) อีกด้วย

จากรางวัลดังกล่าว ถือเป็นกำลังใจอย่างดียิ่ง ที่ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธัญญา อยากที่จะพัฒนาผลงานวิชาการให้มากยิ่งขึ้น พร้อมๆ ไปกับการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ การคิดหาวิธีการเรียนการสอนที่เพิ่มสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนในศาสตร์สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งและสามารถเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้




สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง