Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการ Living Will and Palliative Care

อัพเดท : 05/04/2560

1937

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุมวิชาการ เรื่อง “Living Will and Palliative Care” เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ณ อาคารบรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคล และแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด ๑๒๖ คน ประกอบด้วย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ ๑๑ และ ๑๒ นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ

การประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑. ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐)
๒. ดร.อำนาจ บุบผามาศ สำนักงานกฎหมายบิลโก
๓. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
๔. นายไพศาล ลิ้มสถิต ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๕. นายพิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
๖. อาจารย์ นพ. สุรศักดิ์ วิจิตรพงศ์จินดา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
๗. อาจารย์ นพ. ธารินทร์ เพ็ญวรรณ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
๘. อาจารย์ นพ. อภิชัย วรรธนะพิศิษฐ์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ในช่วงเช้าของงานประชุม นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ กับการสร้างสุขภาวะของชีวิต” ว่า ขณะนี้ สช. ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเปิดเวทีวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย (Living Will) ทั่วประเทศและยังมีแผนที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ผลักดันให้มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจต่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขในสถานพยาบาลพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ให้เห็นความสำคัญและเจตนารมณ์การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย (Living Will) และวางระบบรองรับการดูแลแบบประคับประคองรองรับการให้บริการผู้ป่วย เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่ เป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศที่อยู่ในภาวะต้องดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น รวมถึงจะทำการปรับปรุงและให้ความช่วยเหลือในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อรองรับการทำงาน โดยเฉพาะการนำผู้ป่วยกลับไปดูแลที่บ้าน และการให้ยากับผู้ป่วยเพื่อลดความทรมาน รวมถึงการเปิดให้มี ศูนย์บริการยืมเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วยต่อไป

นพ.ธารินทร์ เพ็ญวรรณ สำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งผู้สูงอายุจำนวนมากจำเป็นต้องมีระบบสุขภาพและบริการรองรับ ดังเช่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็ มีจำนวนผู้สูงอายุเกิน ๑๐๐ ปี สูงเป็นอันดับ ๒ รองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับ ๑ เร็วๆ นี้ ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ รวมไปถึงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้และประสงค์สร้างความร่วมมือกับ สช. ในการสนับสนุนองค์ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์วลัยลักษณ์เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งจะมีการลงนาม บันทึกความร่วมมือ (MOU) ในเร็วๆนี้

ยิ่งไปกว่านี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังได้รับอนุมัติงบประมาณวงเงิน ๒๕๓ ล้านบาท เพื่อจัดทำศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะ (Hospice) ขนาดประมาณ ๒๐ เตียง ภายใต้แนวคิดการให้ผู้ป่วยและญาติได้อยู่ใกล้ชิดกัน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นพี่เลี้ยง และเป็นแหล่งอบรม พัฒนาองค์ความรู้แก่บุคลากรสุขภาพ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณหน้า มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมให้บริการผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์วลัยลักษณ์และจากภายนอกได้ในอีก ๓-๔ ปีข้างหน้า

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://drive.google.com/drive/folders/0B2uVNlXzRQIAQVdyblR6bk1ONGM?usp=sharing