Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผลักดันการใช้ประโยชน์งานวิจัย

อัพเดท : 26/04/2560

2191



ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ TbuS Excellent ผลักดันการใช้ประโยชน์งานวิจัยในงานพระจันทร์หลากสีที่เกาะพะงัน โดยดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการของเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และรองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์เพื่อการจัดการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเกาะพะงัน

โดยดร.พิมพ์ลภัส กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของงานวิจัยนี้มาจากภาคส่วนท้องถิ่นในเกาะพะงันที่ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะพะงันให้เป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืน เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจท้องถิ่นภายใต้ขีดความสามารถในการรองรับของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นร่วมของประชาคมคือ เกาะพะงันเป็นอะไรได้มากกว่าพื้นที่ Full Moon Party มากกว่าการมาปาร์ตี้แล้วกลับ” ดังนั้นประเด็นสำคัญในการวิจัยครั้งนี้คือการค้นหาและวิเคราะห์ศักยภาพของทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม วิถีชีวิต อันจะนำไปสู่การพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาระบบสื่อความหมาย การวิเคราะห์ธุรกิจท่องเที่ยวตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมต่อชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างแบรนด์และแนวทางในการสื่อสารเปิดให้สาธารณะชนเห็นถึงศักยภาพและมุมมองอื่น มีกิจกรรมท่องเที่ยวทางเลือกที่โดดเด่นสวยงามไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมในคืน Full Moon Party “ทีมวิจัยของเราลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล ทั้งตัวแทนรายครัวเรือน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น องค์กรภาครัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ไปจนถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มากที่สุด” ดร.พิมพ์ลภัสกล่าวเสริม ซึ่งผลงานวิจัยนี้มีระยะเวลาการดำเนินการ 1 ปี ภายใต้ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของทรัพยากรทางธรรมชาติ วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเกาะพะงัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางธรรมชาติใต้ทะเล เส้นทางประวัติศาสตร์ที่มีจารึกในการเสด็จประพาสเกาะพะงันของ 4 รัชกาลในราชวงศ์จักรี การเสด็จถึง 14 ครั้งของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าเกาะพะงันไม่ได้มีเพียงงาน Full Moon Party เท่านั้น ดังนั้น งานที่สำคัญงานหนี่งนอกเหนือจาการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว คือ การสร้างตราสินค้าหรือสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวเกาะพะงัน



“การสร้างแบรนด์ ไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบโลโก้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับบริบทรอบด้าน มุมมองของนักท่องเที่ยว มุมมองของผู้ประกอบการและชาวเกาะพะงัน รวมไปถึงนโยบายภาครัฐก่อนพัฒนาออกมาเป็นแนวคิดในการสร้างแบรนด์ ในงานนี้ เรามีแนวทางในการออกแบบคือ Union of the Moon หรือที่กล่าวได้ว่าพระจันทร์นำพาผู้คนมากหน้าหลายตา จากนานาประเทศมาพบเจอกันบนแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์หลากหลายผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายหาด ป่าเขา ใต้ทะเล ไปจนถึงวิถีชีวิตที่งดงามของคนเกาะพะงันแต่ละบริเวณ เสน่ห์ของประสบการณ์หลากหลายเฉดสีนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “Mantras of Colormoon at Koh Phanagn หรือ มนต์เสน่ห์แห่งพระจันทร์หลากสีที่เกาะพะงัน” ดร.พิมพ์ลภัสกล่าว

ผลงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยความร่วมมือของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์เพื่อการจัดการได้ร่วมกันจัดนิทรรศการและนำเสนอผลงานให้กับผู้ใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และประชาชนท้องถิ่นในเกาะพะงัน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใหม่ 4 เส้นทาง สื่อดิจิทัลเกี่ยวกับทรัพยากรใต้ทะเล แบบของเส้นทางสื่อความหมายทั้งทางธรรมชาติและเส้นทางประวัติศาสตร์ แนวคิดการสร้างแบรนด์และแบบร่างของโลโก้ พร้อมแผนการพัฒนาและบริหารจัดการเกาะพะงันให้กับ คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในพิธีเปิดงานพระจันทร์หลากสี วันที่ 23 เมษายน 2560 ณ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่อาศัยองค์ความรู้ของบุคลากรในศูนย์ และบูรณาการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย Thailand 4.0 ได้เป็นอย่างดี