Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ยุทธศาสตร์การวิจัย ม.วลัยลักษณ์ เน้นการเชื่อมโยง สร้างผลงานวิชาการคุณภาพสมบูรณ์แบบ เป็นมหาวิทยาลัย 4.0

อัพเดท : 03/05/2560

1128

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้วางนโยบายยุทธศาสตร์การวิจัยภายใต้แนวคิดที่เน้นการเชื่อมโยง เพื่อสร้างผลงานวิชาการคุณภาพสมบูรณ์แบบ และมีเป้าหมายให้เป็นมหาวิทยาลัย 4.0 โดยเชื่อมโยงงบประมาณวิจัยอย่างเหมาะสม มีหน่วยงานสนับสนุนพิเศษ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ความเป็นเลิศต่างๆ และสภาวิจัย ทั้งยังสนับสนุนงานวิชาการที่หลากหลายและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม กล่าวถึงการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ว่า ไม่ได้หมายถึงการทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อทำวิจัย การจัดซื้อครุภัณฑ์ หรือให้ค่าตอบแทน โดยที่ไม่มีแผน เหตุผลหรือเนื้อหารองรับ อันจะนำไปสู่ความสูญเปล่าของทรัพยากรชาติ อีกทั้งยังแตกต่างจากแนวทางเดิมที่มหาวิทยาลัยวิจัย เน้นผลงานตีพิมพ์ (Publication) และการอ้างถึง (Citation) ในวารสารวิชาการนานาชาติเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้แนวคิดที่เน้นการเชื่อมโยง สร้างผลงานวิชาการคุณภาพสมบูรณ์แบบ เพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัย 4.0

รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ว่า มหาวิทยาลัยจะเชื่อมโยงงบประมาณวิจัยอย่างเหมาะสม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มงานวิจัยที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ งานวิจัยที่มีธุรกิจเอกชนหรือชุมชนเป็นผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง จะส่งเสริมให้ได้รับทุนงบประมาณแผ่นดินและแหล่งทุนภายนอกอื่นๆ ส่วนกลุ่มงานวิจัยที่เน้นผลิตองค์ความรู้ใหม่ จะสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัย โดยจะมีการปรับโครงสร้างทุนใหม่ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าตามตำแหน่งวิชาการ

การจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เป็นหน่วยงานสนับสนุนพิเศษ เพื่อเชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ผู้ประกอบการตามแนวทางประเทศไทย 4.0 และบูรณาการทรัพยากรภายในอาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของนักวิจัยและบัณฑิตศึกษา รวมทั้งเป็นที่ทำการของศูนย์ความเป็นเลิศอีกด้วย การจัดตั้งสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานการวิจัยและบูรณาการทรัพยากรอาคารวิจัยวิทยาการสุขภาพ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ความเป็นเลิศ จำนวน 10 ศูนย์ ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ และเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญที่หลากหลายในต่างสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อพุ่งเป้าไปยังการวิจัยในประเด็นที่มีผลกระทบสูงและตอบโจทย์สำคัญของประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ เปิดเผยต่อว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้จัดตั้งสภานักวิจัย เพื่อเชื่อมโยงระบบบริหารงานวิจัยกับความคิดของผู้แทนจากการเลือกตั้งทั่วไป และผู้แทนสำนักวิชาโดยตรง ซึ่งทำให้งานวิจัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเริ่มต้นขับเคลื่อนจากนักวิจัยโดยตรง โดยไม่ผูกโยงกับผู้บริหารที่เปลี่ยนแปลงไปตามวาระ ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนงานวิชาการที่หลากหลาย โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้คุณค่ากับโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม โครงการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ การวิจัยสถาบัน/R2I การวิจัยในชั้นเรียน และการเขียนหนังสือจากผลงานวิจัย เพื่อขยายฐานและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีส่วนในการผลิตผลงานวิชาการและงานสร้างสรรค์มากขึ้น โดยมีระบบกลไกและการคิดภาระงานที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการยกระดับไปสู่ผลงานระดับประเทศในที่สุด

ด้านการเสริมสร้างศักยภาพบุคคลทุกกลุ่มด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความมุ่งมั่นในการเชื่อมโยงให้เกิดงานสร้างสรรค์ทั้งจากพนักงานสายปฏิบัติการ นักศึกษา ภาคีเครือข่ายชุมชน และผู้ประกอบการ ในรูปแบบของนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ สื่อ การออกแบบ และกระบวนการใหม่ ซึ่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับคณาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเท่านั้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิชาการในรูปแบบที่เข้าถึงสาธารณชน เพื่อเพิ่มการนำไปใช้ประโยชน์และสร้างสรรค์สังคมบนฐานความรู้ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ชุมชนและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยต่างๆ

ทั้งนี้ ในส่วนการเผยแพร่ผลงานวิจัยทางวารสาร รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีวารสารทางวิชาการ จำนวน 6 วารสาร คือ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ การจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นวัตกรรมการเรียนรู้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ Walailak Journal of Asean Studies และ Walailak Journal of Science and Technology ซึ่งแต่ละวารสารมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของการประชุม “อธิการพบบรรณาธิการ” เพื่อเป็นเวทีพูดคุยและสร้างความเข้าใจร่วมกันในการจัดทำวารสารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างวลัยลักษณ์ให้เป็นบ้านของวารสารวิชาการคุณภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร. ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล กล่าวด้วยความเชื่อมั่นในตอนท้ายว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศและนานาชาติได้ในอนาคต หากดำเนินการยุทธศาสตร์การวิจัยภายใต้แนวคิดที่เน้นการเชื่อมโยงเพื่อสร้างผลงานวิชาการคุณภาพสมบูรณ์แบบ โดยมีเป้าหมายให้เป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ด้วยการเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งด้านงบประมาณ องค์กร/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสริมสร้างให้เกิดงานวิจัย และการส่งเสริมศักยภาพให้แก่ทุกกลุ่มคนด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม