Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดแสดงผลงานในกิจกรรม "วัฒนธรรมศรีวิชัย...แรงบันดาลใจต่อยอดผลิตภัณฑ์"

อัพเดท : 08/06/2560

976



อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (WUSP) ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กระทรวงอุตสาหกรรม จัดแสดงผลงานจาก 11 ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมในกิจกรรม "วัฒนธรรมศรีวิชัย...แรงบันดาลใจต่อยอดผลิตภัณฑ์" ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (The Cultural Heritage Development Project) เพื่อถ่ายทอดเสน่ห์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทยโดยการพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องตุมปัง อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ นักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ประกอบการและแขกผู้มีเกียรติในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วม

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกล่าวเปิดงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยม กำลังดี รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะหัวหน้าโครงการกล่าวสรุปกิจกรรม



นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กล่าวว่า โครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามีแนวคิดที่จะพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาตามลักษณะเด่นในแต่ละวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการสานต่อกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาโอทอปของประเทศที่เรียกว่า OTOP 2.0 ที่นอกเหนือจากการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เชิงสร้างสรรค์และตอบสนองผู้บริโภคแล้ว ยังรวมถึงการยกระดับช่องทางการจำหน่ายในตลาดที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เข้มแข็งและมีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากส่งผลให้เกิดการพัฒนาในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

จากการดำเนินกิจกรรม "วัฒนธรรมศรีวิชัย...แรงบันดาลใจต่อยอดผลิตภัณฑ์" ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (The Cultural Heritage Development Project) ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาตามลักษณะเด่นของวัฒนธรรมศรีวิชัย (Srivijaya Cultural Heritage) นำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการยกระดับช่องทางการจัดจำหน่ายในตลาดที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เข้มแข็งและมีเอกลักษณ์ โดยมีผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 11 ราย ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 รายได้แก่ 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์หัตถกรรมกะลามะพร้าวเฉลิมพระเกียรติ 2) ว.วราถักร้อย 3) นายน้อยร้อยพันสร้อย 4) กลุ่มบาติกมัดย้อมเฉลิมพระเกียรติ 5) อิสลามบาติก 6) กลุ่มทอผ้าบ้านเนินมวง 7) กลุ่มเยาวชนแกะหนังตะลุง จังหวัดกระบี่ 1 ราย คือ กลุ่มอาชีพการทำกระเป๋าสตรีลิตเติ้ลดักษ์ จังหวัดพังงา 1 ราย คือ กลุ่มทอผ้าชาโอริ และจังหวัดภูเก็ต 2 ราย ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์มรดกเมืองทักษิณและบริษัท พรีม่าซิลเวอร์ จำกัด ซึ่งทั้งหมดประกอบธุรกิจประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกได้รับคำปรึกษาแนะนำเชิงลึก วิเคราะห์วิพากษ์ร่วมกันจนได้จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จตามที่มีการให้คำแนะนำปรึกษา โดยคณะทีมที่ปรึกษา ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต สุขสิกาญจน์ อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญออกแบบผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ออกแบบหัตถอุตสาหกรรม อาจารย์เจษฎา สุขสิกาญจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ผู้เชี่ยวชาญออกแบบ ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึกและออกแบบเครื่องแต่งกาย และอาจารย์ตวงรัก รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบลายผ้าและสิ่งทอ ของที่ระลึกและสื่อประชาสัมพันธ์ จากนั้น ในขั้นตอนสุดท้ายได้นำมาจัดแสดงเพื่อให้มีการวิพากษ์แบบผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากทั้ง 11 ผู้ประกอบการ โดย คุณพงษ์ศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย แก้วดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่อไป

ประมวลภาพ