Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อธิการบดี ม. วลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือพัฒนางานวิจัยกับภาคเอกชน

03/07/2560

1701



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือพัฒนางานวิจัยกับภาคเอกชน 2 บริษัท คือ บริษัท ทิพย์เมธา จำกัด โครงการการติดตั้งระบบควบคุมการอบไม้ยางพารา (DryWooD) และบริษัท ทีเอบี อินโนเวชั่น จำกัด โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องแยกสปอร์ของราจากเมล็ดข้าวโดยใช้คลื่นไมโครเวฟและระบบไซโคลน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ณ อาคารเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวถึงความสำคัญของการทำวิจัยว่า เป็นการทำเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นำไปสู่นวัตกรรมและใช้เพื่อการเรียนการสอน ซึ่งผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสามารถเพิ่มมูลค่า นำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนา ที่สำคัญ ในการนำมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัย 4.0 นั้น ต้องเปลี่ยนงานวิจัยจากการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เป็นงานวิจัยเพื่อนวัตกรรม (Innovative Research) เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ ได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดนวัตกรรมเกี่ยวกับไม้มานานนับ 10 ปี เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดเวลา ช่วยให้สามารถอบไม้ได้มากขึ้น ทั้งยังส่งคำสั่งการดำเนินการผ่าน Application ได้อีกด้วย รวมทั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่นำเทคโนโลยีไมโครเวฟมาใช้ในงานด้านการเกษตร



รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ ได้พูดถึงความสำเร็จของศูนย์ฯ ว่า เกิดจากลักษณะเด่นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้านการรวมบริการ ทำให้ศูนย์ฯ นี้ เป็นที่รวมของผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการในหลากหลายด้านจากหลายสำนักวิชากว่า 40 คน เป็นการทำงานวิจัยที่บูรณาการเพื่อให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรม และเน้นการทำวิจัยเรื่องในอนาคตเกี่ยวกับไม้ที่สามารถนำไปใช้งานได้ เช่น นาโนของไม้ คาดว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นผู้นำทางด้านนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ได้พูดถึงการเกษตรในอนาคตว่า ต้องใช้งานวิจัยพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการ SME โดยทางศูนย์ฯ มีความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ทางฟิสิกส์ไปใช้ในงานด้านการเกษตร

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ได้ลงนามความร่วมมือกับคุณประชา งามรัตนกุล บริษัท ทิพย์เมธา จำกัด ในการติดตั้งระบบควบคุมการอบไม้ยางพารา (DryWooD) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ และลงนามความร่วมมือกับคุณพัชรพร ธรรมภิบาลอุดม บริษัท ทีเอบี อินโนเวชั่น จำกัด โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องแยกสปอร์ของราจากเมล็ดข้าวโดยใช้คลื่นไมโครเวฟและระบบไซโคลน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า



โอกาสนี้ คุณประชา งามรัตนกุล บริษัท ทิพย์เมธา จำกัด ได้มอบทุนการศึกษาเพื่อเข้ากองทุนการศึกษาจากงานวิจัยและบริการวิชาการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร โดยมี อาจารย์ ดร.มนเทียร เสร็จกิจ รองคณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เป็นผู้รับมอบ

สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
ธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพ

ประมวลภาพ