Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สถาบันภาษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดสัมมนาวิชาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสื่อการสอนและการประเมินผลการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักศึกษาที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ

อัพเดท : 03/08/2560

1228



สถาบันภาษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดสัมมนาวิชาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผลการเรียนภาษาอังกฤษ ระหว่างวันที่ 21- 23 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอ่าวนาง วิลล่า รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ เพื่อเป็นการกระตุ้นการมุ่งสู่เป้าหมายการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับการเน้นย้ำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า “นักศึกษาของเราจะต้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และเรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานได้อย่างน้อย 3000 คำและประโยคเบื้องต้น 1800 ประโยค”

งานสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 30 คน จากสถาบันภาษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การอภิปรายดำเนินการภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมสีกรด รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ และ อาจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้กำกับฝ่ายภายในสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยหัวข้อหลักในการอภิปรายเน้นถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และสื่อออนไลน์ในห้องเรียนเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เช่น การใช้ corpus concordance เพื่อการเรียนภาษาโดยอิงจากบริบทการใช้จริง และเว็บไซต์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เช่น Kahoot, Socrative and Quizlets ซึ่งได้รับการยอมรับแล้วอย่างกว้างขวาง

“สื่อเหล่านี้มีส่วนช่วยให้การเรียนในห้องเป็นไปอย่างสนุกสนาน และนักศึกษาจะมีส่วนร่วมกับบทเรียนมากขึ้น” อาจารย์นาธาน คิมมอน วิทยากรพิเศษจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว เช่นเดียวกับ ผศ. ดร. ศุภกรณ์ ภู่เจริญศิลป์ วิทยากรพิเศษจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอในหัวข้อการใช้ corpus concordance ในการเรียนการสอน ที่เน้นย้ำถึงการเรียนรู้ทั้งคำศัพท์และไวยากรณ์ หรือแม้แต่สำนวนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการประยุกต์ใช้ corpus concordance

“เวลาที่เด็กเรียนศัพท์ใหม่คำเดียวโดดๆ มันจะยากสำรับเขาเวลาต้องนำไปใช้จริงเพราะมันไม่มีบริบท แต่หากเราให้เขาสังเกตการณ์ใช้จริงจากบริบท เขาก็จะเห็นภาพว่ามันใช้อย่างไร ” ผศ. ดร. ศุภกรณ์ ภู่เจริญศิลป์ กล่าว

นอกเหนือจากเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในห้องเรียน ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการสัมมนาครั้งนี้ คือ โครงการการไปศึกษาต่อต่างประเทศ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สถาบันภาษาได้ริเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาที่มีแผนจะไปศึกษาต่อหรือฝึกงานในต่างประเทศ มีความพร้อมทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม และการใช้ชีวิต ในหัวข้อนี้ สถาบันฯ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พรนภิส ดาราสว่าง ผู้ดูแลโครงการการศึกษาต่อต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้เน้นย้ำถึงการติดตามประเมินผลจากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการโดยใช้การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อให้เห็นถึงเสียงสะท้อนเชิงลึกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการในระยะยาว

“การฟังเสียงสะท้อนจากนักศึกษาอย่างต่อเนื่องทำให้เราอุดช่องโหว่และสร้างประสิทธิภาพของโครงการได้ดี” รศ.ดร พรนภิส กล่าวเพิ่มเติม

งานสัมมนาในครั้งนี้จบลงด้วยการอภิปรายกลุ่มในหัวข้อหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมความพร้อมการศึกษาต่อต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน และ การสอนเสริมเพื่อปูพื้นฐานความรู้ ผู้เข้าร่วมทุกคนพึงพอใจกับงานสัมมนาเพื่อการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นอย่างมาก