Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ เดินทางประชุม“The Belt and Road : University Presidents’ Forum of Innovation and Entrepreneurship Education”ร่วมกับอธิการบดีจาก 170มหา’ลัยทั่วโลก ที่เมืองซีอานประเทศจีน

02/10/2560

1746





เมื่อวันที่ 21-27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีม.วลัยลักษณ์ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้กำกับดูแลฝ่ายภายในศูนย์กิจการนานาชาติ เดินทางไปยังเมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมประชุม“The Belt and Road : University Presidents’ Forum of Innovation and Entrepreneurship Education” พร้อมบรรยายแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์การบริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้หัวข้อ “Walailak University : Innovation and Entrepreneurship Education”โดยมีอธิการบดี รวมถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆจากทั่วโลกกว่า 170 แห่งจำนวนกว่า 5,000 คน เข้าร่วมประชุม



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์กล่าวบนเวทีการประชุมดังกล่าวว่า คณะผู้บริหารพร้อมด้วยชาวมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทุกคน มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลิตบัณฑิตให้มีพร้อมเป็นพลเมืองของโลกที่มีคุณภาพระดับสากล ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะของสายวิชาชีพ สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม และพร้อมพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการ โดยเน้นการบูรณาการระหว่างการวิจัยเชิงนวัตกรรมเพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย สหกิจศึกษา ซึ่ง ม. วลัยลักษณ์เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ของประเทศไทยที่ดำเนินการ และร้อยละ 98.3 ของบัณฑิตที่จบไปได้งานทำทันที การพัฒนาหลักสูตรสหวิทยาการใหม่ เช่น Digital Innovation Engineering และ Logistics Analytics and Supply Chain Management เป็นต้นและการปฏิรูปการศึกษานานาชาติซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การจัดตั้งสถาบันภาษา ม. วลัยลักษณ์ หรือ WULI เพื่อปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติเพิ่ม 3 แห่ง ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 รวมถึงจะมีการเปิดหลักสูตรสองภาษาเพิ่มมากขึ้นในทุก13 สำนักวิชาในอนาคตอันใกล้

โอกาสเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ยังได้หารือแบบทวิภาคีกับมหาวิทยาลัยจากหลายภูมิภาค อาทิ กลุ่มมหาวิทยาลัยจากอาเซียน เอเชียกลาง ตะวันออกกลางและ ยุโรปตะวันออก เพื่อหารือทำความร่วมมือร่วมกันทั้งเรื่องของการแลกเปลี่ยนคณาอาจารย์และนักศึกษา และการทำโครงการวิจัยร่วมกันในอนาคต



นอกจากนี้ในวันที่ 26 ก.ย. 2560 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ยังได้เดินทางไปยัง Shaanxi Normal University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย อันดับ 71 สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมากกว่า 2,500 แห่ง โดยได้หารือกับ Prof. Cheng GuangxuอธิการบดีของShaanxi Normal University โดยในเบื้องต้นได้มีข้อสรุปในทำบันทึกข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักศึกษาร่วมกัน ในรูปแบบ 3+1 หรือการเรียนที่ม.วลัยลักษณ์ 3 ปี และเรียนที่ Shaanxi Normal University 1 ปี ในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี และหลักสูตรจีนศึกษา ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องภาษาเท่านั้นแต่จะรวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีน รวมถึงการลงทุนไทย-จีนด้วย

ทั้งนี้หลังจากการเจรจาเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ได้เข้าเยี่ยมชม School of Chemistry and Chemical Engineering และห้องปฏิบัติการต่างๆของ Shaanxi Normal Universityซึ่งมีความพร้อมของเครื่องมือทดลองเป็นอย่างมาก โดยมี Prof. Yang Wenyu, ผู้อำนวยการศูนย์ห้องปฏิบัติการ ให้การต้อนรับ และจะมีการพูดคุยรายละเอียดในกับสำนักวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไปในเร็วๆนี้

ประมวลภาพ

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร

ภาพโดยศูนย์กิจการนานาชาติ