Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม. วลัยลักษณ์ ผสานวิทย์-ศิลป์ นำมรดกทางวัฒนธรรมไทย เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ISI

อัพเดท : 19/10/2560

823

ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 13-14 คาบสมุทรสยาม (พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน) เป็นศูนย์กลางทางการค้าขายและการเดินทางของกลุ่มคนต่างๆ รวมทั้งพระสงฆ์และพราหมณ์ เพราะเป็นประตูสู่มหาสมุทรทั้งสองด้าน เชื่อมโยงเส้นทางในภูมิภาค ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีการผสมผสานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เกิดร่องรอยมรดกวัฒนธรรมในอดีตมากมาย รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับ

ในปี ค.ศ. 2016 ดร. วัณณสาส์น นุ่นสุข อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ (ปัจจุบันทำงานที่ SEMEO SPAFA) และ รศ. ดร. ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ที่ขุดค้นพบในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นๆ ไปวิเคราะห์ด้วย X-Ray ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยได้รับความร่วมมือจาก ดร. จารุ จุติมูสิก นักวิจัยหลังปริญญาเอก และ รศ. ดร. รัตติกร ยิ้มนิรัญ อาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ผลการศึกษา ได้รับการพัฒนาเป็นต้นฉบับบทความใน โครงการ 24: The Best of Both Worlds ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มุ่งนำองค์ความรู้เชิงลึกจากงานวิจัยเชิงพื้นที่และอัตลักษณ์พื้นถิ่นไทยไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ บทความ Synchrotron XANES and ED-XRF analyses of fine-paste ware from 13th to 14th century maritime Southeast Asia ได้รับการประเมินจากวารสาร X-Ray Spectrometry (จัดพิมพ์โดย John Wiley & Sons, Inc. และ มีค่า ISI impact factor 1.298) ในวันที่ 30 ธันวาคม 2016 ให้แก้ไขข้อบกพร่องหลายด้าน ส่วนสำคัญคือ การแปลความข้อมูลโดยใช้สถิติ ซึ่งคณะผู้วิจัยได้รับความช่วยเหลือจาก ดร. วนิดา ลิ่มมั่น อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ใช้เวลาแก้ไขแล้วเสร็จใน 4 เดือน จนได้รับการเผยแพร่ใน X-Ray Spectrometry ปีที่ 46 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2017 หน้า 492-496

ความสำเร็จนี้ จึงเป็นผลจากการบูรณาการศาสตร์ ที่ใช้ความเชี่ยวชาญ ด้านโบราณคดี ฟิสิกส์วัสดุ และ สถิติ เป็นแนวทางให้นักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของไทยเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือ พัฒนางานร่วมกันเพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมไทย ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพิ่มมากขึ้นต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม : http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/xrs.2780/full