Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์เสริมฐาน 5 ด้าน สู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยคุณภาพ

อัพเดท : 31/10/2560

1336

ด้วยนโยบาย “รวมบริการ ประสานภารกิจ” นำไปสู่ความสำเร็จด้านการวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปีงบประมาณ 2560 เสริมฐานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย 5 ด้าน คือ ด้านนักวิจัย ด้านบทความวิจัย ด้านการประชุมวิชาการและวารสาร ด้านทุนวิจัย และด้านเครือข่ายวิจัย

รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปีงบประมาณ 2560 ว่า เป็นปีที่มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในด้านการวิจัยเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสรุปผลการดำเนินงานใน 5 ด้าน คือ ด้านนักวิจัย ได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย เช่น อาจารย์ ดร. พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 นักวิทยาศาสตร์ตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม Global Young Scientist Summit (GYSS) ประจำปี 2560 รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ และอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านพาณิชย์เรื่อง “การพัฒนาระบบออกแบบรูปแบบการเลื่อย ระบบควบคุมการอัดน้ำยา ระบบควบคุมการอบ และเตาอบไม้ต้นแบบ สำหรับการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2559 รองศาสตราจารย์ ดร.สรศักดิ์ ด่านวรพงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์และอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมูลนิธิโทเรฯ (Thailand Toray Science Foundation: Science and Technology Research Grant) ครั้งที่ 23 ปี พ.ศ. 2559 ด้วยงานวิจัย เรื่อง การศึกษาผลกระทบของคลื่นเหนือเสียงที่มีต่อการผลิตน้ำมันของสาหร่าย Botryococcus braunii รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี และรองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้รับการจารึกชื่อในหอเกียรติยศ “พสวท.”

ด้านบทความวิจัย จำนวนตีพิมพ์บทความวิจัยของมหาวิทยาลัยสะสมรวมในฐานข้อมูล Scopus เกินกว่า 900 บทความ โดยขณะนี้มีจำนวนประมาณ 0.25 บทความนานาชาติต่ออาจารย์ต่อปี และมีบทความ 12 เรื่องในปีนี้ที่ได้ตีพิมพ์ ในวารสารที่มีค่า ISI impact factor มากกว่า 4 โดยบทความที่มีค่า ISI impact factor สูงสุด อยู่ที่ 9.144 ด้านการประชุมวิชาการและวารสาร มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ มากกว่า 10 รายการต่อปี เช่น The Second International Symposium on Sustainable Agriculture and Agro-Industry การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัยทางการจัดการ” การประชุมวิชาการระดับชาติการเรียนรู้เชิงรุก และการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น และยังผลิตวารสารคุณภาพในฐาน TCI 4 วารสาร คือ Walailak Journal Science and Technology วารสารสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วารสารการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ และ Walailak Journal Science and Technology ยังอยู่ในฐานข้อมูล Scopus อีกด้วย

ด้านทุนวิจัย ในปีงบประมาณ 2560 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ รวมสูงถึง 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2559 ด้านเครือข่ายวิจัย มหาวิทยาลัยได้เป็นแม่ข่าย สกอ. ภาคใต้ตอนบน รับผิดชอบ Innovation Hub : Creative Economy เพิ่มเติมจากเครือข่ายวิจัยฯ ชุมชนฐานราก และ เครือข่ายวิจัยฯ เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังร่วมดำเนินโครงการใหม่ของประเทศ ได้แก่ Talent Mobility, Innovative Startup, Research for Community และ ทุนท้าทายไทย : นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ อีกด้วย

“จากผลงานทั้ง 5 ด้าน ที่เสริมฐานของงานวิจัย ถือได้ว่า เป็นการบูรณาการและความร่วมมือของนักวิจัยและหน่วยงานต่างๆ ด้วยนโยบาย“รวมบริการ ประสานภารกิจ” ของ สำนักวิชา สถาบันวิจัยและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะนำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยคุณภาพ สมบูรณ์แบบชั้นนำของประเทศในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล กล่าวในตอนท้าย



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง