Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สร้างเครื่องกำจัดมอดในไม้ยางระดับอุตสาหกรรมเครื่องแรกในประเทศไทย

อัพเดท : 27/02/2555

2176

นักวิจัยของห้องปฏิบัติการพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม มหาวิทยาลัยลักษณ์ ซึ่งประกอบด้วย นายไพรวัลย์ เกิดทองมี นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ(และนักศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์) นายพันธุ์ศักดิ์ เกิดทองมี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ และนายธรรมนูญ ศรีน่วม นักศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันสร้างเครื่องกำจัดตัวมอดและไข่มอดในไม้ยางพารา ขนาดกำลัง 72 kW เพื่อใช้ในการกำจัดมอดในไม้ยางพาราให้กับบริษัท แปลนครีเอชั่น จำกัด จ.ตรัง ที่จะใช้ในการผลิตของเล่นสำหรับเด็กยี่ห้อ PlanToys การใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟในการกำจัดมอดจะทำให้บริษัทสามารถแก้ปัญหาการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปซึ่งห้ามการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง
 
เทคโนโลยีไมโครเวฟเป็นเทคโนโลยีสะอาด(Green technology) ไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก เครื่องดังกล่าวเป็นเครื่องไมโครเวฟที่มีกำลังสูงสุดสำหรับการทำลายมอดในระดับอุตสาหกรรมที่เคยมีการสร้างขึ้นในประเทศไทย (เท่าที่มีข้อมูล) มีขนาด 2 เมตร x 2 เมตร x 2 เมตร สามารถใส่ไม้ยางได้ครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม และใช้เวลาในการทำลายมอดประมาณ 10 นาที โดยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีไมโครเวฟดังกล่าว สำนักงานนวตกรรมแห่งชาติ(สนช.)ได้ให้ค่าตอบแทนเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จำนวน 450,000 บาท ความสำเร็จดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟกำลังสูงสำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย
 
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ได้ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองเทคโนโลยีไมโครเวฟแล้ว 4 เรื่อง (เขียนโดยนายไพรวัลย์ เกิดทองมี 3 เรื่อง และนายพันธุ์ศักดิ์ เกิดทองมี 1 เรื่อง) และได้รับการคุ้มครองอนุสิทธิบัตรแล้ว 1 เรื่อง
 
ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรมได้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับฟิสิกส์และวิศวกรรมของคลื่นไมโครเวฟกำลังสูงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 โดยได้รับทุนสนุนจาก เครือข่ายสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ของไทย(ThEP) สวทช. และสถาบันวิจัยพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ตีพิมพ์บทความวิจัย 7 เรื่อง นำเสนอในที่ประชุมทางวิชาการ 24 เรื่อง กำลังยื่นและยื่นจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรรวม 5 เรื่อง โดยมีเทคโนโลยีไมโครเวฟที่ใช้ประโยชน์ได้แล้ว เช่น การอบแห้งผลผลิตการเกษตรต่างๆ เช่น ปลา ผักสมุนไพร ข้าวพอง รังนกแอ่น ลูกเดือย การแยกสปอร์ของเชื้อรา เป็นต้น
 
ปัจจุบันห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรมกำลังพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟสำหรับการเกษตรอินทรีย์เพื่อสกัดสารที่มีประโยชน์จากพืชสมุนไพร การสกัดน้ำหอมจากดอกไม้ โดยไม่ใช้สารเคมีตัวทำละลาย และการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟเพื่อการสังเคราะห์วัสดุนาโนเชิงฟังก์ชัน ซึ่งจะร่วมมือกับหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทแฮนด์ฮาเวสต์ จังหวัดเชียงใหม่