Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ ถวายรายงานโครงการวิจัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

01/12/2560

5021



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ เรื่อง "ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น" เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ณ โครงการพัฒนาที่ดิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา หัวหน้าหน่วยวิจัยพืชเขตร้อน นักวิจัยและอาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.วลัยลักษณ์ เจ้าของโครงการวิจัย "โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพันธุ์พื้นเมืองท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช" (ผู้วิจัยร่วม ดร. อรรถกร พรมวี และ คุณอุไร จันจำปา เกษตรกรอาสา) ซึ่งเป็น 1 ใน 8 โครงการวิจัย ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ ให้เข้าถวายรายงานต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี



โอกาสเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก ม.วลัยลักษณ์ ประมาณ 30 คน เดินทางไปศึกษาดูงาน เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6 ใน ปี พ.ศ. 2563 และการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ปี พ.ศ. 2564 และร่วมจัดนิทรรศการโครงการอนุรักษ์และพัฒนาศักยภาพมะนาวไข่พันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา ดร. อรรถกร พรมวี และ ผู้ช่วยศาสตราจรย์ ดร. ฉัตรชัย กัลยาณปพน ร่วมวิจัย พร้อมด้วย คุณอำนวย มาศเมฆ เกษตรกรอาสา

การประชุมวิชาการและนิทรรศการ เรื่อง "ทรัพยากรไทย : ศักยภาพมากล้นมีให้เห็น" จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ส่วนราชการ มหาวิทยาลัย และสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน ประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน และผู้กำหนดนโยบายได้เห็นความหลากหลายแห่งศักยภาพของทรัพยากรไทย

ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทั้งทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา โดยสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ความร่วมมือระหว่างโครงการฯ มหาวิทยาลัย โรงเรียน และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาวิชาการ หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ และการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และนิเวศวิทยาพื้นถิ่น ปัจจุบันมีสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนจากทั่วประเทศ ประมาณ 3,000 แห่ง และสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นประมาณ 1,000 แห่ง

ประมวลภาพ

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร