Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้บริหารและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าพบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปรากในการเดินทางเพื่อศึกษาวิจัย ณ กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก

19/12/2560

2554



ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (TBUS) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แก่ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ในฐานะนักวิจัยเข้าพบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปราก โดยความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปราก โดยมี นางวิยะดา ศรีรางกูล ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปราก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายทุนวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเข้าร่วมหารือ

“การเข้าพบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปรากในครั้งนี้ เนื่องมาจากการที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีผมเป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ดร.พิมพ์ลภัส หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 และ ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 ในการดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาสปาทาวน์ต้นแบบของประเทศไทย ในอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นงานวิจัยต่อยอดจากผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และคณะ ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเมืองสปาต้นแบบของประเทศไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีในครั้งที่เดินทางมาประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดภูเก็ตในปีที่แล้ว” ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าว

ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปรากได้บรรยายเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการท่องเที่ยวของกรุงปราก และพื้นที่ใกล้เคียง โดยดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับโครงการวิจัยเมืองสปานานาชาติต้นแบบ ซึ่งท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปรากได้กรุณาให้คำแนะนำ รวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยก่อนที่นักวิจัยจะเดินทางไปเมือง Karlovy Vary เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่อไป

“ในการเดินทางครั้งนี้ คณะนักวิจัยมีจุดมุ่งหมายในการศึกษาเมืองสปาต้นแบบ (Best practice) ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสาธารณรัฐเช็กที่ซึ่งเมืองสปามีชื่อเสียงในระดับโลกอย่าง Karlovy Vary ที่มีน้ำพุร้อนเค็มคล้ายกับทางอำเภอคลองท่อม คณะนักวิจัยได้ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อยและสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐผู้บริหารจัดการเมือง ภาคเอกชน สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการสปา ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้เยี่ยมชมกิจการ การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา อันสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เดินทางมาท่องเที่ยว ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือการถอดบทเรียนการบริหารจัดการเมืองสปา การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับสปาทาวน์ของภาครัฐ และการจัดสรรการใช้น้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ศึกษา นั่นคือ อำเภอคลองท่อมและพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป” ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว

ทั้งนี้ ในการเก็บข้อมูลการพัฒนาเมืองสปา ณ เมือง Karlovy Vary ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปรากได้นำนักวิจัยเข้าประชุมร่วมกับนายกเทศมนตรีเมือง Karlovy Vary เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองสปา รวมถึงการเก็บข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการเมืองสปาของ Karlovy Vary ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองสปาคลองท่อม จังหวัดกระบี่ต่อไป ทั้งนี้นักวิจัยได้หารือเกี่ยวกับความเป็นใปได้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างเมืองคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และเมือง Karlovy Vary ต่อไปในอนาคต ซึ่งทางนายกเทศมนตรีฯ เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นกับแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

“การเดินทางมาทำวิจัยในประเทศสาธารณรัฐเช็กในครั้งนี้นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสปาแล้ว ยังทำให้ผู้วิจัยได้ข้อมูลที่สำคัญกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่ายิ่งของชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดกระบี่ และเป็นการสร้างเครือข่ายที่สำคัญในการพัฒนางานวิจัยอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งการพัฒนาเมืองสปาต้นแบบนี้ เราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และเข้าไปดำเนินการวิจัยและบริการวิชาการในพื้นที่อย่างต่อเนื่องภายใต้หลักการพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนเพื่อมุ่งหวังให้ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวสามารถบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว

อนึ่ง ผลงานวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืนที่มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นประจำปี พ.ศ. 2558 ด้านนโยบาย เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำเข้าประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และได้รับการนำไปสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาล

ประมวลภาพ