Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ German International Cooperation (GIZ) ร่วมจัดประชุมเสวนาการบริหารจัดการโลจิสติกส์ อย่างยั่งยืน (Sustainable Logistics Management)

อัพเดท : 08/01/2561

1515



อาจารย์ ดร. จรรยา ชาญชัยชูจิต อาจารย์ประจำหลักสูตร บริหารธุรกิจ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานประชุมเสวนาการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน (Sustainable Logistics Management) ภายใต้ความร่วมมือไทย-เยอรมนี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ (เอส. เทค.) อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในที่ประชุม ร่วมด้วยแขกผู้มีเกียรติ อาทิ Dr. Christine Falken - Grosser ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและองค์กรระหว่างประเทศ (GIZ: German International Cooperation) นายชิณวรณ์ บุญเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพโรจน์ โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาคแผนงาน IMT-GT นายทศพร จันทรประวัติ นายอำเภอทุ่งสง และ นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง พร้อมผู้เข้าร่วมการประชุมเสวนากว่า 400 คน



ในการประชุมเสวนานี้ ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง รวมทั้งแผนงานในอนาคตที่จะดำเนินการเพื่อพัฒนาให้ศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ – ทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot) และศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้การขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และนานาชาติ โครงการศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ถือเป็นโครงการที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะการขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมกับท่าเรือสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยใช้การขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) เพื่อทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการลดลงและส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศต่ำลง อีกทั้งยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากภาคการขนส่ง จึงทำให้เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยในตลาดโลกได้

หลังจากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกปลี่ยนความคิดเห็น และ สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและเยอรมนี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้สรุปแนวทางการพัฒนาอำเภอทุ่งสงเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ดังต่อไปนี้ ประการแรกทำการวิเคราะห์จุดแข็งของโครงการ สินค้าหรือบริการ ผู้ลงทุนและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ประการที่สองเป็นการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค และระบบการจัดการน้ำ เป็นต้น และประการที่สามอำเภอทุ่งสงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการเข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งการประชุมเสวนาในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมนีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ประมวลภาพ