Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ เฉียบแหลม : สนใจวิจัยเชิงพื้นที่ด้านการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน

08/01/2561

5393

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ เฉียบแหลม อาจารย์ประจำสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ สำนักวิชาการจัดการ สนใจศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรด้านท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชน และชุมชนเป็นผู้รับผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่นักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยพื้นฐานการเรียนรู้ และการปลูกฝังเกี่ยวกับทรัพยากรที่นับวันจะถูกทำลายทั้งทางธรรมชาติและมนุษย์ จึงได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาอุทยานและนันทนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้น ในปี พ.ศ. 2548 จึงได้มาปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ สำนักวิชาการจัดการ โดยเน้นทางด้านการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว และในปี พ.ศ. 2552 ได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขา Natural Resources Management ที่ Asian Institute of Technology (AIT) โดยมีความสนใจทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะผลกระทบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวทางทะเลเช่น การเกิดปะการังฟอกขาว และผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งถือว่า เป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยและทั่วโลก กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ ได้เห็นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จึงได้กลับมาพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนร่วมกับสาขาวิชาฯ ในรูปแบบการเรียนรู้จากการทำงาน (Work-based Learning) โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากสถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ในวิชาที่รับผิดชอบยังจัดการเรียนการสอนโดยการเรียนรู้ด้วยโครงการ (Project-based Learning) ให้แก่นักศึกษา และได้ทำการศึกษาวิจัยรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าว จนผลงานได้รับการตีพิมพ์ใน วารสารวิจัยทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ เรื่อง การเรียนรู้การวางแผนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วยโครงการและการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งผลจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ลักษณะการเรียนการสอน การวางแผนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว เป็นการเรียนเชิงรุกที่เน้นให้นักศึกษาได้ทำโครงการร่วมกับชุมชน ซึ่งการเรียนรู้โดยโครงการ (Project-Based Learning) เป็นการเรียนรู้ที่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งครอบคลุมกระบวนการเรียนรู้ ที่เป็นการตรวจสอบปัญหา และเรียนรู้ให้ตรงกับปัญหาได้อย่างแท้จริง ทำให้นักศึกษามีแรงจูงใจและพึงพอใจในการเรียนร่วมกับการทำโครงการ ที่สำคัญนักศึกษาสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้ ทั้งนี้ในการเรียนรู้ดังกล่าวถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาร่วมจะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ

ด้านการทำวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ มุ่งเน้นการทำวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาด้านการใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชน โดยสนใจทำวิจัยเชิงพื้นที่ด้านการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งทำงานร่วมกับชุมชน และชุมชนเป็นผู้รับผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง อย่างเช่น การศึกษาวิจัยในพื้นที่อำเภอปากพนัง ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เชิงพื้นที่ เรื่อง ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาช่องทางการกระจายสินค้าข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง รวมทั้งงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศในตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยสามารถนำไปพัฒนาชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ มีผลงานวิจัยและบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ เช่น Climate Change Trends and Its Impact on Tourism Resources in Mu Ko Surin Marine National Park, Thailand ตีพิมพ์ใน Asia Pacific Journal of Tourism Research และ Does Coral Bleaching Impact Tourists' Revisitation? A case of Mu Ko Surin Marine National Park, Thailand ตีพิมพ์ใน Journal of Food, Agriculture & Environment และ Coastal Change and Tourism Resources: Problems and Consequences ตีพิมพ์ใน Journal of Environmental Management เป็นต้น

ด้านการบริการวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ตอนบน รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวมีศักยภาพในการดำเนินงานและมีการประกอบอาชีพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพและยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยังได้ทำการศึกษาวิจัยต่อเนื่องในเรื่อง การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มคุณค่าสินค้าบริการและการท่องเที่ยว : วิสาหกิจชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้เน้นด้านศักยภาพของทรัพยากร กระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์และสินค้าบริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้เชื่อมั่นว่า การบริการวิชาการและผลการวิจัยจะสามารถส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน และเพิ่มคุณค่าสินค้าบริการและการท่องเที่ยวได้

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สำเร็จการศึกษาแล้วมีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ตรงกับหลักสูตรที่เรียน ซึ่งจากผลสำรวจบัณฑิตที่ได้งานทำหลังจากสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2558 พบว่า บัณฑิตของสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ที่ได้งานทำหลังจากสำเร็จการศึกษานั้น คิดเป็นร้อยละ 100 โดยบางส่วนของบัณฑิตได้งานทำตั้งแต่ปฏิบัติงานสหกิจ ครั้งที่ 3 ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ ถือเป็นความภาคภูมิใจในการทำงานด้านอาชีพการเป็นครู ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ เฉียบแหลม

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง