Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อธิการบดีเผย 9 ยุทธศาสตร์พัฒนา ม.วลัยลักษณ์

12/01/2561

2038

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยถึง 9 ยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในโอกาสพิธีสถาปนาอธิการบดี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี



ในโอกาสพิธีสถาปนาอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใน 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง ว่า จะดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัยใน 9 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ความเป็นเลิศด้านงานวิจัย โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ 17 ศูนย์ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการวิจัย ส่งผลต่อการก้าวสู่ Thailand 4.0 ทั้งยังมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในฐานข้อมูล ISI, Scopus และ PubMed จำนวน 123 บทความ และได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 จากสถาบันการศึกษาวิจัยของโลก ตาม Nature Index ของเครือ Springer Nature ซึ่งเป็นการยืนยันความพร้อมพื้นฐานของมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organisation) โดยการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานทั้งแนวคิดและพฤติกรรมการทำงานที่เน้นผลลัพธ์และมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ ปฏิรูประบบการประเมินผลเป็นแบบเชิงวัตถุวิสัยและการทำงานเป็นทีม (Objective and Teamwork Assessment) อาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยนำระบบการบันทึกการปฏิบัติงานประจำวันมาใช้ มีความเป็นธรรมและโปร่งใส มีเป้าหมายที่จะทำเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาให้ได้คะแนน 4.9 จากคะแนนเต็ม 5 โดยปีที่ผ่านมาได้คะแนนระดับดีมากที่ 4.64 ในส่วนของตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ มีแผนการปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นภายใน 4 ปี ไม่น้อยกว่า 60%

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ปฎิรูประบบการเรียนการสอนให้เป็นมาตรฐานสากล ให้นักศึกษามีทักษะในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และหาความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ระบบ UKPSF(United Kingdom Professional Standard Framework) ซึ่งปัจจุบันมีอาจารย์จำนวน 60 คน ที่เข้ารับการอบรมให้มี skill ด้านการสอน และจะมีการทดสอบเพื่อให้ได้รับคุณวุฒิตามเกณฑ์ของ UKPSF มีการปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้เป็น Active Learning โดยนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในปีการศึกษา 2561 จะได้เรียนใน Smart Classroom เพื่อให้นักศึกษาได้คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนภาษาอังกฤษซึ่งมีความสำคัญต่อการแข่งขันในอนาคต ได้มีการปรับโครงสร้างการเรียนการสอนให้นักศึกษาทุกคนเรียนภาษาอังกฤษ 2 ปีการศึกษา 6 เทอม โดยมีอาจารย์จากต่างประเทศเป็นผู้สอนถึง 90% และเรียนวิชาเอกเป็นภาษาอังกฤษจำนวน 2 วิชา ดังนั้น บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ในชีวิตประจำวันทุกคน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ โดยทุกหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพรับรอง นักศึกษาจะต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพในครั้งแรก ไม่น้อยกว่า 90% ส่วนหลักสูตรที่ไม่มีสภาวิชาชีพรับรองจะมีการสอบ Exit Exam ลักษณะเดียวกับของสภาวิชาชีพ เมื่อสอบผ่านจะได้รับใบรับรองจากมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาที่เข้ามาในปีการศึกษา 2561 ทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเป็นเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งได้วางแผนให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามอันดับต้นๆ ของประเทศ มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมเยียนมีความประทับใจ และมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลง 10% ในอนาคตจะมีการผลิตไฟฟ้าจาก Solar Farm อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีโรงงานกำจัดขยะทั้งขยะธรรมดาและขยะมีพิษ และจะทำให้โรงงานกำจัดขยะเป็นต้นแบบของการกำจัดขยะ มีการวางแผนนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้รดน้ำต้นไม้ พร้อมทั้งวางแผนจัดหา Shuttle Bus เพื่อให้บริการนักศึกษา บุคลากรและผู้มาเยี่ยมเยียน ที่สำคัญได้มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาทั่วไปเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับนักศึกษาทุกคน

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรภายนอกมหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริการวิชาการรับงานวิจัยไปทำโครงการร่วมกับชุมชน นำผลงานวิจัยไปร่วมมือกับภาคเอกชน รวมทั้งการสนับสนุน Startup และ SME เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 7 ขับเคลื่อนการใช้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเขตธุรกิจ บริเวณที่ติดกับศูนย์การแพทย์ ซึ่งจะมีศูนย์การค้า ร้านค้าที่ขายสินค้าทางด้านการเกษตรและสินค้าโอท้อป และโรงแรม รวมทั้งการจัดทำ Solar Farm เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรรายได้ที่จะมาช่วยเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต

ยุทธศาสตร์ที่ 8 ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ที่ทันสมัยที่สุดในภาคใต้ตอนบน โดยจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ใน 16 สาขา ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 40% นอกจากนี้ ยังมีสถานวิจัยด้านวิทยาการสุขภาพเพื่อทำงานวิจัยทางด้านการแพทย์ มีการจัดตั้งวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารีและวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติอีกด้วย ในอนาคตเมื่อเปิดการให้บริการระยะแรกจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 5 แสนคน และยุทธศาสตร์ที่ 9 เป็นหัวใจสำคัญของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ในด้านการพัฒนานักศึกษาให้มีศักยภาพด้านกีฬาและการมีสุขภาวะที่ดี มีร่างกายที่แข็งแรง โดยการพัฒนาสนามกีฬาต่างๆ ให้มีมาตรฐาน มีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมกีฬา เช่น การส่งเสริมฟุตบอลทีม WU เมืองคอนยูไนเต็ด โดยใช้สนามของมหาวิทยาลัยเป็นสนามแข่งขัน รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาชนิดเดียว เช่น บาสเกตบอลและวอลเลย์บอล เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ให้สัญญาในตอนท้าย ว่า โลกเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีความมุ่งมั่นและต้องมีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 4 ปี ต่อจากนี้ จะนำพามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่ First Tier University และการสร้างให้วลัยลักษณ์เป็นแผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ (WU Land of Glory)

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร ข่าว