Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.จับมือภาคีเครือข่าย สัมมนา OTOP Plus ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยวิชาการ ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

อัพเดท : 18/01/2561

1927



อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน จัดสัมมนาเรื่อง “OTOP Plus ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยวิชาการและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เครือข่ายภาคใต้ตอนบน” เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้นำไปสู่การพัฒนาตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยมีผู้ประกอบการที่ผ่านคัดเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์จำนวน 12 รายเข้าร่วม เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ม.วลัยลักษณ์ ประธานในพิธีเปิดการสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศ ให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ โดยมุ่งเน้นงานวิจัย นวัตกรรมในการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ให้ได้รับความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ร่วมกับ เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จัดทำโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เครือข่ายภาคใต้ตอนบน” โดยมีกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาสถานที่ผลิต การพัฒนาเครื่องหมายการค้า และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศให้มีความรู้ในการประกอบธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจสินค้าหรือบริการให้มีศักยภาพในการส่งออกและแข่งขันกับต่างประเทศได้

“ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาสินค้าเพื่อการจำหน่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออก มหาวิทยาลัยเองก็มีความตื่นตัวตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นต้องนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่นเดียวกับสินค้า OTOP ที่เราทำอยู่ก็ต้องมีการพัฒนา ไม่ว่าทางด้านวิชาการหรือนวัตกรรม การบ่มเพาะธุรกิจเพื่อให้สินค้ามีการส่งออก ขายได้ เกิดเป็นอาชีพและรายได้ นำมาสู่การกินดีอยู่ดีของประชาชน ของประเทศชาติได้”ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อภินันท์ กล่าว

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิยม กำลังดี รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เครือข่ายภาคใต้ตอนบน จัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ สนใจเข้าร่วมจำนวน 100 ราย แบ่งเป็น กลุ่มหัตถกรรม 20 ราย อาหาร 66 ราย เครื่องสำอางและสมุนไพร 14 ราย และมีผู้ประกอบการผ่านการคัดเลือกเพื่อพัฒนาเชิงลึกให้กับผลิตภัณฑ์จำนวน 12 ราย ทำให้เกิดการจัดแสดงผลงานของทั้ง 12 ผลิตภัณฑ์ พร้อมกับการสัมมนาในวันนี้ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะแม่ข่ายเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน คาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้กลับไปใช้ในการวางแผนเพื่อการพัฒนาธุรกิจก้าวสู่การผลิตสินค้าเพื่อแข่งขันในตลาดยุคใหม่ได้อย่างมั่นใจต่อไป

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร