Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์นันธิดา จันทร์ศิริ : การพัฒนาไปสู่ความเป็นครูและนักวิจัยมืออาชีพเพื่อสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง

22/01/2561

7579

อาจารย์นันธิดา จันทร์ศิริ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีแรงจูงใจในการทำงานวิจัย บริการวิชาการ และงานสอน จากความสนใจและความมุ่งมั่นในการเป็นครูและการเป็นนักวิจัยมืออาชีพ เพื่อพัฒนาลูกศิษย์ไปสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ

อาจารย์นันธิดา เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตร์(การปกครอง) และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กรุงเทพมหานคร ในหลักสูตร International Ph.D. Program in Development Administration ซึ่งอาจารย์มีความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ด้านแนวคิดทฤษฎีการบริหาร ธรรมาภิบาล การบริหารองค์กร การบริหารท้องถิ่น นโยบายสาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยก่อนที่จะไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนรองคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ในช่วงแรกที่แยกมาจากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ (1 ธันวาคม 2559 ถึง 1 ธันวาคม 2560) จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาตนเองและพัฒนาสำนักวิชาฯ จากสาขาความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารรัฐกิจ (รัฐประศาสนศาสตร์) ที่ได้ศึกษามา

พัฒนาการของการเป็นครูของอาจารย์นันธิดา คือ การได้รับทุนเป็นผู้ช่วยสอนในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสอนพิเศษภาษาอังกฤษในระหว่างที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท จากนั้นมาเป็นผู้ช่วยสอนในหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในช่วงที่เปิดหลักสูตรใหม่ ในปี 2554 ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โดยในการสอนทุกครั้งจะสอดแทรกภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้กว้างขวางขึ้น

ด้านการวิจัย อาจารย์นันธิดา เล่าว่า การเป็นนักวิจัยเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งตั้งแต่สมัยเรียนระดับปริญญาโทจนถึงปัจจุบัน โดยเคยเป็นผู้ช่วยนักวิจัยโครงการประเมินยุทธศาสตร์จังหวัดสงขลา ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร. จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการวิจัย นอกจากนี้ การมาเป็นอาจารย์ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัยและนำไปใช้ในงานสอน รวมทั้งการเป็นสมาชิกของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการท้องถิ่นและเมือง” (Center of Excellence for Local and City Governance = CLCG) ทำให้ได้รับคำแนะนำด้านกลยุทธ์การทำวิจัย ทั้งแนวทางการทำวิจัย กระบวนการวิจัย และการเขียนงานวิจัย จาก รองศาสตราจารย์ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ อีกด้วย ทำให้มีความสุขกับการคิด การเขียน การทำงานวิจัย และพัฒนาให้งานวิจัยอยู่ในกระบวนการทำงาน การบริหารงาน และการสอน

ส่วนงานด้านบริการวิชาการ อาจารย์นันธิดา เล่าว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานสอนในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ และการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ รวมทั้งความท้าทายในความสามารถ เช่น การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความวิจัยในงานประชุมวิชาการ การวิพากษ์งานวิจัยของนักศึกษา การเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ การเป็นคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษา และคณะกรรมการการพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า การทำงานด้านการสอน งานวิจัย และบริการวิชาการ ของอาจารย์นันธิดา สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยนำประโยชน์ที่ได้จากการทำวิจัยและบริการวิชาการมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน ที่สำคัญ คือ ความมุ่งมั่นของการเป็นครูและนักวิจัยเพื่อการพัฒนาลูกศิษย์ไปสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ

จากนั้นอาจารย์นันธิดา เล่าถึงเป้าหมายในอนาคตหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกว่า ในฐานะอาจารย์จะพัฒนาความเป็นครูให้เพียบพร้อมทั้งความรู้ พัฒนาเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ และสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พัฒนาความคิด การวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์แนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ได้ และสามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ได้ โดยอาศัยกระบวนการวิจัย รวมทั้งการลงศึกษาพื้นที่จริงเพื่อสร้างประสบการณ์และความเข้าใจบริบท นอกจากนี้ จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนมีความสนใจใฝ่เรียนรู้ มีความมุ่งมั่น รวมทั้งความพร้อมต่อการพัฒนาตนเองให้มีความเชี่ยวชาญในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ และมีคุณลักษณะ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)” เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเป็นผู้นำหรือนักบริหารในอนาคตที่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ จะพัฒนาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ในฐานะนักวิจัยจะพัฒนากระบวนการและทักษะการวิจัยให้มีความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ และนำไปถ่ายทอดให้นักศึกษาและพัฒนาปสู่การบริการวิชาการ พัฒนาชุมชนและท้องถิ่นได้ ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ว่า “เป็นหลักในถิ่น” ขณะเดียวกันก็จะแสวงหาความร่วมมือกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาโจทย์ใหม่ๆ ของการวิจัย และการพัฒนาให้นักศึกษามีความเป็นนักวิจัยโดยผ่านการเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอน ส่วนในฐานะนักวิชาการจะพัฒนางานเขียนทั้งงานเขียนจากการวิจัย และการเขียนบทความวิชาการที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือในระดับเครือข่ายทางรัฐประศาสนศาสตร์ในการพัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเวทีประชุมวิชาการต่างๆ

“การได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นการวิจัยเป็นฐาน พร้อมพัฒนาตัวเองให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพควบคู่ไปกับการฝึกฝนนักศึกษาให้เป็นนักวิจัยมืออาชีพเช่นเดียวกัน เพราะการวิจัยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของนักศึกษาได้ หากมีกระบวนการคิดแบบนักวิจัย รวมถึงการต่อยอดในการเรียนและการทำงานในระดับที่สูงขึ้น พร้อมกับการเพิ่มทักษะอื่นๆ อย่างรอบด้านที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการเป็นครูของอาจารย์นันธิดา จันทร์ศิริ

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง