Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อธิการบดีมวล. นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ชวนน้อง ม.ปลาย เรียนต่อที่ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 09/02/2561

1653

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) โดย ศูนย์บริการการศึกษา ร่วมกับส่วนสื่อสารองค์กร จัดโครงการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น เพื่อแนะนำมหาวิทยาลัย สำนักวิชา หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ พบผู้บริหาร ครูแนะแนว ในระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จำนวน 750 คน โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย 700 คน อาจารย์แนะแนวโรงเรียนในพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 จ.ขอนแก่น จำนวน 84 โรงเรียน เข้าร่วม



กิจกรรมครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณบดี และตัวแทนอาจารย์จากสำนักวิชา วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันภาษา ได้ร่วมกันแนะนำมหาวิทยาลัยและให้ข้อมูลเชิงลึกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สร้างการรับรู้และความมั่นใจแก่ผู้บริหาร ครูแนะแนว และนักเรียน ขยายและเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ของนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือโรงเรียนและ สพม.25 ดังกล่าวเป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า มีเป้าหมายสำคัญในการกระจายและขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งต้องการให้นักเรียนในภูมิภาคอื่นๆได้มาศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้มากขึ้น เพื่อให้มีความหลากหลาย แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้มีนโยบายที่ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน มุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ นำมาตรฐาน UKPSF จากอังกฤษมาใช้ในการเรียนการสอน ใช้ระบบ Smart Classroom ปรับปรุงห้องปฏิบัติการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีมาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีการจัดตั้งสถาบันภาษา โดยมุ่งให้นักศึกษารู้ศัพท์ภาษาอังกฤษอย่างน้อย 3,000 คำ 1,800 ประโยค เพื่อให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้จริงในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพรองรับต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพในครั้งแรก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ส่วนหลักสูตรที่ไม่มีสภาวิชาชีพต้องผ่านการสอบประมวลความรู้ EXIT-EXAM

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบชั้นนำของประเทศ มุ่งสู่ความเป็นนานาชาติมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์ อัครราชกุมารี และวิทยาลัยนานาชาติ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์มุ่งสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้จะนำเอารถไฟฟ้ามาใช้เพื่อเป็นระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนปรับปรุงสนามกีฬาต่างๆ ให้มีมาตรฐาน พร้อมทั้งติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 55 ตัว คอยสอดส่องดูแลทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการใช้ชีวิตของนักศึกษาที่มีความสุขและปลอดภัยในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ขณะเดียวกัน อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ยังได้กล่าวถึงโครงการศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 40 ซึ่งเมื่อเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบ ศูนย์การแพทย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำของภาคใต้ตอนบน ซึ่งจะมีผู้มาใช้บริการอย่างน้อยปีละ 1 ล้านคน

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร