Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศ.ดร.สุภางค์ จันทวนิช : การศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์กับความท้าทายในยุคไทยแลนด์ 4.0

อัพเดท : 05/04/2561

2871



ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิช สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษเรื่อง : การศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์กับความท้าทายในยุคไทยแลนด์ 4.0 ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย 2018” เนื่องในโอกาสครบปีที่ 26 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารเรียนรวม 3 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ เริ่มพูดถึงข้อท้าทายที่ว่า การอยู่บนหอคอยงาช้าง ซึ่งไม่ได้ดีอย่างที่ทุกคนเข้าใจ นักวิจัยอยากทำงานวิจัยชิ้นเล็กๆ เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ทุนวิจัยมีแต่ว่าเรามีความสามารถที่จะทำมั๊ย ซึ่งนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ส่วนมากยังไม่มีแนวคิดหรือประเด็นด้านการวิจัย หรือมีความสงสัย/สนใจในเรื่องอะไร นำมาสู่ข้อเรียกร้องการวิจัยเชิงนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแบ่งเป็น ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี เพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การท้าทายสังคม การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ และการสร้างบุคลากรพัฒนาระบบนิเวศและเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ส่วนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ใช้ความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม มาปรับให้เป็นความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน เติมเต็มด้วยวิทยาการ นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ โดยกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี(2560-2579) ใน 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ กล่าวต่อถึงการพัฒนาฐานรองรับงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคมศาสตร์ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ บริการสุขภาพต่างๆ เทคโนโลยีด้านการเงิน เช่น e-market และเทคโนโลยีการออกแบบ เช่น ธุรกิจไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว โดยกำหนดเป้าหมายให้เป็นระบบเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่า อยู่ดีมีสุข ไม่ทอดทิ้งกัน ยกระดับคุณค่ามนุษย์ รักษาสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงาน 3 ขั้น คือ เตรียมคน เตรียมเทคโนโลยีแห่งอนาคต เตรียมผู้ประกอบการและเครือข่ายวิสาหกิจ และเตรียมพื้นที่ระดับจังหวัด เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เราจะแข่งขันได้มั๊ย เรามีอะไรดี พฤติกรรมผู้บริโภคในภาพรวมอยากได้สิ่งที่เรานำเสนอหรือไม่ ดังนั้น การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมต้อง “ใหม่ ใหญ่ ดัง” มีการถกประเด็นปัญหา พบข้อค้นพบใหม่ ต้องสามารถขายความคิด ให้เป็นที่ยอมรับ และคนรับรู้ เมื่อเป็นดังนี้ นักวิจัยต้องสร้างเครือข่ายการวิจัยทางสังคมทั้งในแนวนอน เพื่อสร้างแนวร่วมผนึกกำลังในลักษณะกลไกพหุภาคี ต้องมีหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดกลไกเชื่อมโยงกัน เช่น ภาครัฐ – กรมเจ้าท่า เอกชน – นายทุนทำประมง สมาคมประมง ประชาสังคม – NGO สมาคมรักทะเล ฝ่ายวิชาการ – จากหลากหลายสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนักวิจัยต้องทำงานกับทุกฝ่าย ทำอย่างไรให้ฟังเรา เนื่องจากทุกฝ่ายตั้งธงของตัวเองไว้แล้ว การทำให้ทุกฝ่ายอยากฟังในสิ่งที่เรานำเสนอเป็นเรื่องที่ยาก ส่วนแนวตั้งเพื่อการสื่อสารทั้งระดับล่างและระดับบน และเพื่อการผลักดันด้านนโยบาย ระดับล่าง คือ พลัง ระดับบน คือ ผู้กำหนดนโยบาย เราจำเป็นต้องผลึกกำลังทั้งระดับล่างและบน ต้องพยายามให้ข้อมูลไปถึงผู้กำหนดนโยบาย สร้างเครือข่ายทั้งแนวนอนและแนวตั้งเพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ประเด็นการวิจัยเชิงนโยบาย ต้องการงานวิจัยที่ทำงานเป็นทีม แหล่งทุนสำหรับการทำงานด้านสังคมศาสตร์ สามารถขอได้จากบริษัทในรูปแบบการทำ CSR ของบริษัท ในส่วนของนวัตกรรมต้องการจินตนาการเชิงสังคมวิทยา (Sociological Imagination)(C.Wright Mills,1959) โจทย์ปัญหาวิจัยที่เป็นประเด็นทางสังคม นักวิจัยต้องวิเคราะห์โดยมีมิติของอดีตและปัจจุบัน ใช้พื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ ปรัชญา และสังคมวิทยา เช่น วรรณกรรม เพลงพื้นบ้าน จะบอกอะไรได้บ้าง เพื่อนำมายกระดับการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ ทั้งนี้ จินตนาการและนวัตกรรมสามารถทำเป็นเรื่องเดียวกันได้ แต่จะต้องฝึกคิด เพื่อทำให้งานวิจัยมีความใหม่ ใหญ่ และดัง

การวิจัยมีบริบทที่กว้างกว่าเดิม เช่น นครศรีธรรมราชอยู่ระนาบเดียวกับเมืองเกิ่นเทอ (Can Tho) ของประเทศเวียดนาม ในภูมิภาคอาเซียน และอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ไทย-พม่า นวัตกรรมสู่อนาคตย่อมต้องถูกตั้งคำถามหรือปฏิเสธในเบื้องต้น อย่าปฏิเสธของใหม่ และทำของใหม่ให้ได้ยินมากขึ้น และการวิจัยตามยุทธศาสตร์ 4.0 ต้องไม่เป็นเสือที่คนขี่ควบคุมไม่ได้ ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิช กล่าวในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร ข่าว