Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ร่วมภาคีเครือข่ายจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์

05/04/2561

1770



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนแห่งประเทศไทย จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ ในหลักสูตร “หลักจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์”(Ethical Principles for research involving humans (Human subject protection) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ตลอดจนคณาจารย์ นักศึกษา ได้ทราบหลักการเกี่ยวกับจริยธรรมตามหลักสากล ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2561 ณ ห้องประชุม 203 อาคารวิทยาศาสตร์กีฬา

โอกาสนี้ได้มีพิธีเปิดการอบรม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ประธานกล่าวเปิดงาน อาจารย์ ดร.ผานิตย์ คุ้มฮิ้น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้เข้าร่วมอบรมจากสถาบันการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน สนใจเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ กว่า 220 คน

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ กล่าวว่า โครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์หลักสูตร หลักจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์Ethical principles for research involving humans (Human subject protection) เป็นการอบรมด้านจริยธรรมตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นการรับประกันว่าสิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยฯให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบชั้นนำจึงต้องมีการสนับสนุนงานวิจัยที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ สำหรับงานวิจัยในมนุษย์นั้นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ จึงได้ออกประกาศเรื่องข้อกำหนดการวิจัยในมนุษย์ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559 กำหนดให้โครงการวิจัยในมนุษย์ทุกโครงการต้องผ่านการรับรองก่อนเริ่มทำการวิจัยและหัวหน้าโครงการวิจัยต้องผ่านการอบรมด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อนเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับการรับรองจากคณะกรรมการการวิจัยในมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้มีการปฏิบัติต่ออาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัยตามหลักการสากล คือต้องมีการคุ้มครองศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัคร ดังนั้นการอบรมในครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่ออาสาสมัครให้เป็นไปตามหลักการสากล

อาจารย์ ดร.ผานิตย์ คุ้มฮิ้น กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าความเจริญก้าวหน้าของศาสตร์สาขาต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เกิดจากงานวิจัย และส่วนหนึ่งของงานวิจัยเหล่านนั้นเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ซึ่งการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต้องถือเอาความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครเป็นสิ่งสำคัญมาก่อนความสนใจทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจสาเหตุ พยาธิกำเนิดของโรค ศึกษาความชุก อุบัติการณ์ พัฒนาการป้องกัน การวินิจฉัย กระบวนการรักษา การพัฒนายาใหม่ การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและการทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยในมนุษย์ที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานด้านต่างๆรวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนแห่งประเทศไทย จัดโครงการอบรมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ตลอดจนคณาจารย์ นักศึกษา ได้ทราบหลักการเกี่ยวกับจริยธรรมตามหลักสากลซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ตามหลักการทำวิจัยที่ดี โดยคำนึงถึงสิทธิ ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัคร

ประมวลภาพ

ภาพ/ข่าว โดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร