Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผลงานโดยหลักสูตรอาเซียนศึกษา ตีพิมพ์และเผยแพร่แล้ว

10/04/2561

2060

ผลงานโดยหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ตีพิมพ์และเผยแพร่แล้วทั่วประเทศ

เล่มแรก “ไทยใต้ มลายูเหนือ: ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย” หนังสือรวมบทความแปลที่หลักสูตรอาเซียนศึกษา จัดพิมพ์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บรรณาธิการฉบับภาษาไทย โดย อาจารย์จิรวัฒน์ แสงทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรอาเซียนศึกษา และ ผศ. ดร. ทวีศักดิ์ เผือกสม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร



“ไทยใต้ มลายูเหนือฯ” แปลจาก “Thai South and Malay North: Ethnic Interactions on a Plural Peninsula” หนังสือรวมบทความวิชาการที่จัดพิมพ์โดย NUS Press มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยมีไมเคิล เจ. มอนเตซาโน (Michael J. Montesano) และแพทริค โจรี (Patrick Jory) เป็นบรรณาธิการ ว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพหุลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของพื้นที่พิเศษอันเป็นจุดบรรจบกันระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร แต่ละภาคย่อยของหนังสือซึ่งเจาะลึกประเด็นการเมือง ศาสนา ประชากรชาวจีน และจารีตทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ ได้ให้ข้อมูลภูมิหลังและมุมมองหลากหลายต่อปัญหาความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานที่เกิดขึ้นในดินแดนตอนใต้ของไทย หนังสือเล่มนี้เป็นงานวิชาการที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุดในบรรดาหนังสือเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ว่าด้วยพื้นที่นี้ อันเป็นพื้นที่ซึ่งความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ ภาษา และการเมือง ได้สร้างอุปสรรคต่อการศึกษาอย่างรอบด้านเสมอมา หนังสือมีความโดดเด่นเป็นเฉพาะด้วยเนื้อหาที่กว้างขวางและลึกซึ้งต่อประวัติศาสตร์ภูมิภาคตอนเหนือของมาเลเซียและภาคใต้ของไทย กระทั่งย่อมเป็นงานชิ้นสำคัญสำหรับนักวิชาการ นักข่าว สื่อมวลขน และผู้กำหนดนโยบาย และคืองานที่จำเป็นต้องอ่านสำหรับผู้ซึ่งต้องการเข้าใจอดีตอันซับซ้อนและปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาในภาคใต้ของไทย



อีกเล่มหนึ่ง “สมิงสำแดง” นวนิยายแปลโดย เพ็ญศรี พานิช อาจารย์ประจำหลักสูตรอาเซียนศึกษา แปลจากต้นฉบับภาษาอินโดนีเซีย เรื่อง “Lelaki Harimau” (ชื่อในฉบับภาษาอังกฤษว่า “Man Tiger”) ซึ่งประพันธ์โดยเอกา กุรณียาวัน (Eka Kurniawan) นักเขียนแถวหน้าของอินโดนีเซีย “รุ่น 2000” (Angkatan 2000) ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนนักเขียนที่เรียกได้ว่า “ก้าวหน้า” และตั้งคำถามต่อความเป็นไปในสังคมอินโดนีเซียอย่างลุ่มลึก นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนได้ยกย่องเอกาว่าเป็นนักเขียนผู้มีความสามารถเอกอุที่สุดนับจากปราโมทยา อนันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) นักเขียนนามอุโฆตผู้ล่วงลับ

วรรณกรรมอินโดนีเซียถูกแปลมาสู่ภาษาไทยไม่มากเล่มนัก และ “Lelaki Harimau” ถือเป็นเล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่งแห่งยุคสมัยที่จะนำพาผู้อ่านให้รู้จักสังคมอินโดนีเซียในระดับที่เล็กลงไปกว่ารัฐชาติอย่างลึกซึ้ง ผสานความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนานท้องถิ่น ผ่านการเล่าเรื่องตามแนวสัจนิยมมหัศจรรย์

“Lelaki Harimau” ได้รับการถ่ายทอดและตีพิมพ์ในภาษาอื่นไปกว่าสิบภาษา ทั้งยังถูกการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในระดับสากล เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวยกย่องหนังสือเล่มนี้ว่า “นี่คือผลงานที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองสูง มีจินตนาภาพลึกซึ้งและสง่าวามที่สุดในแวดวงวรรณกรรมอินโดนีเซียขณะนี้ เปรียบได้ราวกับอุกกาบาตที่ไม่มีใครเคยคาดคิด ซึ่งเรืองรองและสุกสกาวที่สุด”

สำหรับผู้สนใจ “ไทยใต้ มลายูเหนือฯ” สามารถติดต่อที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือบริษัทเคล็ดไทย จำกัด และร้านหนังสือทั่วไป ส่วนผู้สนใจ “สมิงสำแดง” ติดต่อได้ที่หลักสูตรอาเซียนศึกษา หรือสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง รวมถึงช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ต่างๆ