Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์จัด "ค่ายครอบครัวพอเพียง" เรียนรู้แนวทางพระราชดำริ ดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง

อัพเดท : 07/05/2561

2608



ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมค่าย “ครอบครัวพอเพียง” ในโครงการปลูกสำนึกครอบครัวพอเพียง เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ระหว่างวันที่ 26 - 27 เมษายน 2561 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีบุคลากร บุตรหลานบุคลากร และนักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ เข้าร่วมโครงการประมาณ 100 คน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ เล่าถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2517 ในงานพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเมื่อปี พ.ศ.2541 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อศึกษาและรวบรวมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดระยะเวลา 24 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517- 2541 ที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้ คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ด้วยการเปรียบครอบครัวหนึ่งเป็นตุ่มใส่น้ำ 1 ใบ ภายในตุ่มใบนั้นประกอบด้วย พ่อ แม่ ที่ทำหน้าที่ ทำมาหากิน หาเงินเข้าบ้านหรือหาน้ำใส่ตุ่ม โดยตุ่มมีรูรั่ว คือค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คือรูรั่วที่เอาน้ำออกจากตุ่ม ดังนั้น คำว่า "พอเพียง" จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปริมาณน้ำที่เติมลงไปในตุ่มกับรูรั่วที่มีอยู่ มีความพอดีกัน กล่าวคือ รายรับ-รายจ่าย มีความพอดี จึงเท่ากับ "ความพอเพียง" นี่คือที่มาของคำว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็คือ ความพอประมาณในครอบครัว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกครอบครัว ทุกท่านในวันนี้ จะได้ประโยชน์และกลับไปคิดทบทวนว่า ท่านเกิดความพอเพียงในครอบครัวตัวเองแล้วหรือไม่ หากครอบครัวยังมีรูรั่วมากกว่าน้ำที่เติมลงไป จะได้แก้ไขด้วยการขยันให้มากขึ้น หาน้ำมาใส่ในตุ่มเพิ่มขึ้น หรือใช้วิธีช่วยกันอุดรูรั่วให้น้อยลงต่อไป

คุณจิตตนา หนูณะ หัวหน้าส่วนสื่อสารองค์กร กล่าวถึงการจัดค่าย “ครอบครัวพอเพียง” ว่า ส่วนสื่อสารองค์กรได้จัดทำค่ายฯ นี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการปลูกสำนึกครอบครัวพอเพียง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยเริ่มจากการเชิญชวนบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยและบุตรหลานเข้าร่วมเป็นครอบครัวพอเพียง เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักคำว่า “พอเพียง” ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานที่สำคัญของการดำเนินชีวิต ของทุกครอบครัว และคำว่าพอเพียง ไม่ได้หมายถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การใช้จ่าย ทำมาหากินเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่คำว่าพอเพียง ยังหมายรวมถึง ความเพียรพยายาม อดออม ไม่ใจร้อน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง พอเพียงทั้งคำพูด การกระทำและวิถีการปฏิบัติ และคำว่า ครอบครัวพอเพียง ก็จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สังคมและประเทศชาติพอเพียง” ดังนั้น จากความตั้งใจนี้ ส่วนสื่อสารองค์กร จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ทัศนคติและนำไปสู่การปฏิบัติจริงในชีวิต ทั้งการพูด การปฏิบัติในวิถีของคำว่าพอเพียง อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้ นอกจากจะมีกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แล้ว ยังขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยอีกด้วย

กิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ประกอบด้วย การทำน้ำยาล้างจาน ทำสบู่ และทำกระเป๋าผ้ารักษ์โลก ศึกษาพันธุ์ไม้ในอุทยานพฤกษศาสตร์ เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ณ บ้านแหลมโฮมสเตย์ และเยี่ยมชมศูนย์สาธิตและพัฒนานวัตกรรมเกษตรเทิดพระเกียรติ ร.9 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ นักศึกษาจากอุทยานพฤกษศาสตร์ ส่วนกิจการนักศึกษา ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นวิทยากรประจำฐานการเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย

โครงการ“ปลูกสำนึกครอบครัวพอเพียง” เป็นโครงการที่ส่วนสื่อสารองค์กรร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมเพื่อให้บุคลากร บุตรหลาน และผู้สนใจมีความรู้ ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย และชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ ความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชน



บอกเล่าความประทับใจ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมค่ายครอบครัวพอเพียง



ครอบครัวเก้าเอี้ยน คุณพ่อณัฐพร ด.ญ.ณิชาภา (น้องข้าวฟ่าง) และ ด.ช.นภัทร (น้องข้าวปั้น) ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ขอขอบคุณส่วนสื่อสารองค์กรและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้จัดให้มีกิจกรรมดีๆเช่นนี้ ทำให้เด็กๆได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งความรู้ด้านการทำของใช้ภายในบ้านด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น สบู่ น้ำยาล้างจาน ความรู้ด้านพันธุ์ไม้ วิถีชีวิตชุมชนและอื่นๆ ซึ่งปกติทางครอบครัวได้สอนให้เด็กๆ รู้จักความพอเพียง ด้วยวิธีการออมเงินค่าขนม 10% เพื่อนำไปใช้เป็นทุน ทำสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นในอนาคต ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เข้าใจคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญชอบบรรยากาศ ความพร้อมด้านต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ได้ร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยและพักที่อุทยานพฤกษศาสตร์ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์



ครอบครัวทองปะนะ น.ส.มิ่งมาตา (น้องมิ่ง) และ น.ส.ขวัญชนก (น้องมุข) ทองปะนะ กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ได้ใช้เวลาว่างช่วงปิดภาคเรียนให้เกิดประโยชน์ ค่ายครอบครัวพอเพียงนี้เป็นค่ายที่ทำให้รู้จักคำว่าพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้ และตั้งใจจะได้น้อมนำแนวทางพระราชดำรินี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป



ด.ญ.พรจรัส ทองขาว (น้องน้ำอุ่น) ผู้เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรมค่ายครอบครัวพอเพียงในครั้งนี้ ได้ทั้งความรู้และรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ได้นำแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ทำให้รู้ว่าเรายังไม่สามารถช่วยพ่อแม่หาเงินได้ แต่สามารถช่วยท่านอุดรูรั่วลดรายจ่ายได้อย่างไร โดยส่วนตัวคิดว่า สามารถช่วยได้ด้วยการลดค่าขนม หันมาทานอาหารที่มีประโยชน์และราคาถูกกว่าขนมกินเล่นทั่วไปได้



นายพงศกร คงชัยศรี (น้องเจ) เล่าว่า เป็นค่ายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย นอกจากความรู้เรื่องความพอเพียงแล้ว ยังเป็นการสร้างความอบอุ่นและสานสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยกันมากขึ้น รู้จักเพื่อนใหม่ๆ และนำความรู้นี้ไปบอกเล่าให้คนอื่นได้เข้าใจความพอเพียงได้ง่ายๆแบบที่เราเข้าใจ อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ

ประมวลภาพ